ยก 20 วัดราษฎร์ "อารามหลวง" " ในหลวง "โปรดเกล้าฯ วัดธาตุทอง-เสมียนนารี-ชลประทานฯ" รับกฐินพระราชทาน
โปรดเกล้าฯ 20 วัดราษฎร์ วัดเสมียนนารี-วัดธาตุทอง-วัดสองพี่น้อง จ.สุพรรณฯ-วัดบางพลีใหญ่ จ.สมุทรปราการ ขึ้นชั้นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ มีสิทธิรับกฐินพระราชทาน
เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เปิดเผยว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกวัดราษฎร์ขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา จำนวน 20 วัด ดังนี้ 1.วัดเสมียนนารี กรุงเทพฯ 2.วัดยาง กรุงเทพฯ 3.วัดธาตุทอง กรุงเทพฯ 4.วัดชัยมงคล จ.ชลบุรี 5.วัดอาษาสงคราม จ.สมุทรปราการ 6.วัดบางพลีใหญ่ใน จ.สมุทรปราการ 7.วัดชัยสามหมอ จ.ชัยภูมิ 8.วัดชลประทานรังสฤษฏ์ จ.นนทบุรี 9.วัดพระธาตุดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ 10.วัดเพชรวราราม จ.เพชรบูรณ์ 11.วัดสองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี 12.วัดมหาพุทธาราม จ.ศรีสะเกษ 13.วัดคิรีวิหาร จ.ตราด 14.วัดราษฎร์ศรัทธาธรรม จ.สุโขทัย 15.วัดหนองหอย จ.ราชบุรี 16.วัดเมืองยะลา จ.ยะลา 17.วัดชูจิตธรรมาราม จ.พระนครศรีอยุธยา 18.วัดเซกาเจติยาราม จ.บึงกาฬ 19.วัดพราหมมณี จ.นครนายก และ 20.วัดคูยาง จ.กำแพงเพชร
นายนพรัตน์กล่าวว่า สำหรับขั้นตอนจากนี้ พศ.จะนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา จากนั้นการยกฐานะวัดราษฎร์ทั้ง 20 วัด จะถือว่ามีผลสมบูรณ์ ทั้งนี้ การดำเนินการคัดเลือกวัดราษฎร์ขึ้นเป็นพระอารามหลวงนั้น มีคณะกรรมการพิจารณายกวัดราษฎร์เป็นพระอารามหลวง ซึ่งมีสมเด็จพระธีรญาณมุนี กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) วัดเทพศิรินทราวาส เป็นประธาน โดยคณะกรรมการเห็นว่าวัดทั้ง 20 แห่งมีความเหมาะสม และเข้าหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ อาทิ ต้องเป็นวัดราษฎร์ที่มีความสำคัญต่อชุมชน มีอายุมากกว่า 50 ปี และมีพระสงฆ์จำพรรษาไม่น้อยกว่า 20 รูป เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี ซึ่งที่ประชุม มส.มีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการเสนอมา
ทั้งนี้ เมื่อยกวัดราษฎร์เป็นพระอารามหลวงแล้ว สามารถรับกฐินพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ และจะมีงบประมาณสนับสนุนในการพัฒนาวัดด้วย แต่ไม่ได้เพิ่มมากกว่าที่ได้รับอยู่ในปัจจุบันมากนัก
"ปัจจุบันพระอารามหลวงทั่วประเทศมีทั้งหมด 216 วัด การยกวัดราษฎร์ขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรีครั้งนี้ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา รวมทั้งถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระองค์ท่าน นอกจากนี้ เพื่อเป็นแบบอย่างให้วัดต่างๆ เกิดการพัฒนา และดำเนินการเป็นแบบอย่าง อีกทั้งสร้างประโยชน์ให้แก่สังคม และพระพุทธศาสนาด้วย" นายนพรัตน์กล่าว
ผู้อำนวยการ พศ.กล่าวว่า พระอารามหลวงคือวัดที่พระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ทรงสร้าง หรือทรงบูรณปฏิสังขรณ์ หรือมีผู้สร้างน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเป็นวัดหลวง และวัดที่ราษฎรสร้าง หรือบูรณปฏิสังขรณ์ และขอพระราชทานให้ทรงรับไว้เป็นพระอารามหลวง โดยเมื่อปี 2458 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดระเบียบพระอารามหลวงขึ้นอย่างเป็นระบบตั้งแต่นั้นมา จึงแบ่งพระอารามหลวงออกเป็น 3 ชั้น ดังนี้ 1.พระอารามหลวงชั้นเอก ได้แก่ วัดที่มีเจดียสถานบรรจุพระบรมอัฐิ หรือเป็นวัดที่มีเกียรติสูง มี 3 ระดับ คือ ชั้นเอกพิเศษ ราชวรมหาวิหาร, ราชวรวิหาร และวรมหาวิหาร 2.พระอารามหลวงชั้นโท ได้แก่ วัดที่มีเจดียสถานสำคัญ มี 4 ระดับ ได้แก่ ราชวรมหาวิหาร, ราชวรวิหาร, วรมหาวิหาร และวรวิหาร 3.พระอารามหลวงชั้นตรี ได้แก่ วัดประจำหัวเมือง หรือวัดที่มีความสำคัญชั้นรอง รวมถึงวัดราษฎร์ที่ประชาชนสร้าง หรือปฏิสังขรณ์แล้วเห็นว่าสมควรยกย่องเป็นพิเศษเป็นพระอารามหลวง มี 3 ระดับ ราชวรวิหาร, วรวิหาร และชนิดสามัญ ซึ่งจะไม่มีสร้อยนามต่อท้าย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับวัดราษฎร์ทั้ง 20 วัดที่ได้รับการยกฐานะเป็นพระอารามหลวงครั้งนี้ เนื่องจากเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ จะไม่มีสร้อยนามต่อท้าย