คนที่จะไปปลดปล่อยสังคมนั้น ก็ต้องไม่ประมาทที่จะปลดปล่อยตนเองให้พ้นจากการครอบงำของกิเลสข้างในตัวด้วย หรือทำตัวเองให้เป็นอิสระจากกิเลสที่เป็นเครื่องผูกพันตัวเองดังที่กล่าวมาแล้ว โดยเฉพาะจากตัณหา มานะ และทิฏฐิ มิฉะนั้นแล้วตัวเองจะถูกพันธนาการ ถูกผูกมัด และก็จะพลอยทำให้สังคมถูกผูกมัดไปด้วย
ในเมื่อเราถือว่ามนุษย์เป็นปัจจัยตัวสำคัญในการสร้างสรรค์อิสรภาพของสังคม เราก็ต้องรู้จักตัวมนุษย์ให้ดี การที่จะรู้จักตัวมนุษย์ได้ดี ก็คือรู้จักเจ้าตัวปัจจัยสังขารทั้งหลายที่อยู่ในตัวมนุษย์นั้น แล้วก็พยายามจัดการกับปัจจัยเหล่านั้นให้เกิดผลดี คือจัดการกับสังขารฝ่ายดี เช่นอย่างปัญญานี้ โดยส่งเสริมขึ้นมาให้เจริญงอกงาม ส่วนสังขารในฝ่ายร้ายที่กำจัดขัดขวางอิสรภาพ ก็ต้องแก้ไขลบล้างทำให้หมดไป
เพราะฉะนั้น ในการสร้างสรรค์อิสรภาพของสังคมนั้น จะรู้จักปัจจัยทางสังคมหรือสิ่งแวดล้อมเท่านั้นไม่เพียงพอ จะต้องรู้เข้าใจปัจจัยที่อยู่ในตัวมนุษย์ด้วย เพราะว่าปัจจัยเหล่านี้คือตัวแปร ที่อาจทำให้เราเดินออกไปนอกลู่นอกทาง หรือทำงานล้มเหลว
พูดเป็นสำนวนอีกอย่างหนึ่ง ก็บอกว่า ถ้าคนปราศจากอิสรภาพจากสังขารแล้ว อิสรภาพของสังคมก็คงไกลสุดเอื้อม คือไม่มีทางสำเร็จ เพราะฉะนั้น จะต้องทำให้มนุษย์เป็นอิสระจากสังขาร โดยเฉพาะจากกิเลสที่พันตัว ๓ อย่างนั้น
รวมความว่า ในการทำงานเพื่อช่วยให้สังคมหลุดรอดปลอดพ้นจากการบีบคั้น ข่มเหง เบียดเบียนนั้น
ประการที่ ๑ เราจะต้องเรียนรู้ปัจจัยทั้งหลายในภายนอก และพัฒนาความสามารถในการที่เราจะเข้าไปร่วมเป็นปัจจัยในกระบวนการทางสังคมนั้น
ประการที่ ๒ ต้องรู้เข้าใจปัจจัยที่อยู่ในตัวมนุษย์ แล้วพัฒนาความสามารถและความมั่นคงในการที่จะเป็นอิสระจากสังขารที่เป็นเครื่องกำจัดขัดขวางอิสรภาพเหล่านั้น
พูดอีกนัยหนึ่งว่า คนที่จะไปปลดปล่อยสังคมนั้น ก็ต้องไม่ประมาทที่จะปลดปล่อยตนเองให้พ้นจากการครอบงำของกิเลสข้างในตัวด้วย หรือทำตัวเองให้เป็นอิสระจากกิเลสที่เป็นเครื่องผูกพันตัวเองดังที่กล่าวมาแล้ว โดยเฉพาะจากตัณหา มานะ และทิฏฐิ มิฉะนั้นแล้วตัวเองจะถูกพันธนาการ ถูกผูกมัด และก็จะพลอยทำให้สังคมถูกผูกมัดไปด้วย
หนังสือ ความเป็นอนิจจังของสังขาร กับอิสรภาพของสังคม
โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)
พิมพ์ครั้งที่ ๓ กันยายน ๒๕๕๓ หน้า ๒๖-๒๗