การทำไม่ถูกขั้นตอน (วรุณชาดก)
ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้า ประทับอยู่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี ทรงปรารภพระติสสเถระ บุตรพ่อค้าเมืองสาวัตถี ผู้เกียจคร้าน ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธกว่า...
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ในเมืองตักกศิลา แคว้นคันธาระ มีอาจารย์ทิศาปาโมกข์ท่านหนึ่ง มีลูกศิษย์อยู่ประมาณ ๕๐๐ คน วันหนึ่งพวกลูกศิษย์พากันเข้าป่าไปหาฟืน ในจำนวนนั้นมีมานพผู้เกียจคร้าน อยู่คนหนึ่ง ถือโอกาสที่เพื่อนเขาหักฟืน ไปปูผ้านอนหลับใต้ต้นกุ่ม
พอเพื่อนเขามัดฟืนได้แล้ว ก็หาบฟืนเดินผ่านไปใช้เท้าเตะปลุกเขาให้ตื่นขึ้น เขารีบขยี่ตา ปีนขึ้นต้นกุ่มจับได้กิ่งไม้สดกิ่งหนึ่งก็เหนี่ยวลงมาหักเพราะนึกว่าเป็นกิ่งไม้แห้ง กิ่งไม้สดนั้นก็ดีดตาข้างหนึ่งของเขาบอด เขารีบรวบรวมได้ฟืนหน่อยหนึ่งแล้วก็ตามเพื่อนกลับสำนัก
เย็นวันนั้น ชาวบ้านนอกมาเชิญพราหมณ์ไปประกอบพิธีในวันพรุ่งนี้ ขอให้พราหมณ์รับประทานข้าวเช้าก่อนไปเพราะบ้านอยู่ไกล อาจารย์จึงกำชับให้หญิงรับใช้ตื่นต้มข้าวต้มตั้งแต่เช้าตรู่ พอถึงเวลาใกล้รุ่งหญิงรับใช้ ไปนำฟืนไม้กุ่มสดที่มานพนั้นนำมาเป็นฟืนก่อไฟ จนตะวันขึ้นไฟก็ไม่ติด ทำให้พวกมานพไม่ได้ทานข้าวต้ม จึงไปเล่าเรื่องต่างๆให้อาจารย์ฟัง อาจารย์จึงกล่าวคาถาว่า
" งานซึ่งควรทำก่อน เขาทำทีหลัง เขาจะเดือดร้อนในภายหลัง
เหมือนมานพหักไม้กุ่มเดือดร้อนอยู่ "
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า : ควรทำการงานตามลำดับความสำคัญรีบด่วน
ที่มา : หนังสือนิทานชาดก เล่มที่ ๑ โดย พระมหาสุนทร สุนฺทรธฺมโม