หลวงพ่อบ้านแหลม เป็นพระพุทธรูปยืน ปางอุ้มบาตร สูงประมาณ 2 เมตร 80 เซนติเมตร หล่อด้วยทองเหลืองปิดทอง ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถวัดเพชรสมุทรวรวิหาร หรือที่เรียกว่าวัดบ้านแหลม เป็นพระพุทธรูปสำคัญของชาวเมืองแม่กลอง หรือจังหวัดสมุทรสงคราม
ตามตำนานเล่ากัน มีความสัมพันธ์กับตำนานพระพุทธรูปโสธร แต่มีเพิ่มเติมจำนวนพระพุทธรูปจาก 3 องค์ เป็น 5 องค์ กล่าวคือ มีเรื่องเล่ากันมาว่า มีพระพุทธรูป 5 องค์ ลอยน้ำมาจากเมืองเหนือ เมื่อมาถึงภาคกลางก็ได้แยกย้านกันไป ประดิษฐานอยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ รวม 5 จังหวัด
องค์แรกได้ลอยมาตามแม่น้ำบางปะกง และได้ประดิษฐานอยู่ที่จังหวัดโสธร ได้ชื่อว่า หลวงพ่อโสธร
องค์ที่สอง ลอยมาตามแม่น้ำนครชัยศรี และได้ไปประดิษฐานที่วัดไร่ขิง เมืองนครชัยศรี ที่เป็นอำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐมในปัจจุบัน ได้ชื่อว่าหลวงพ่อวัดไร่ขิง
องค์ที่สาม ลอยมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา และได้ไปประดิษฐานที่วัดบางพลี ณ ปากคลองบางพลี อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ได้ชื่อว่าหลวงพ่อบางพลี
องค์ที่สี่ ลอยมาตามแม่น้ำแม่กลอง และได้ไปประดิษฐานที่วัดบ้านแหลม เมืองแม่กลอง ปัจจุบันคือจังหวัดสมุทรสงคราม ได้ชื่อว่าหลวงพ่อบ้านแหลม
องค์ที่ห้า ลอยมาตามแม่น้ำเพชรบุรี และได้ไปประดิษฐานที่วัดเขาตะเครา จังหวัดเพชรบุรี ได้ชื่อว่าหลวงพ่อเขาตะเครา
สำหรับหลวงพ่อบ้านแหลม มีตำนานอีกเรื่องหนึ่ง กล่าวว่า ชาวบ้านแหลมที่มาตั้งรกรากอยู่ เมื่อประมาณปี พ.ศ.2307 ส่วนใหญ่เป็นชาวประมง ซึ่งไปลากอวนหาปลาที่ปากน้ำแม่กลอง อวนได้ติดพระพุทธรูปขึ้นมาสององค์องค์หนึ่งเป็น พระพุทธรูปยืน ปางอุ้มบาตร อีกองค์หนึ่งเป็นพระพุทธรูปนั่ง จึงอาราธนาพระพุทธรูปยืนมาประดิษฐานที่ศรีจำปา ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ของเมืองแม่กลอง ส่วนพระพุทธรูปนั่ง ได้มอบให้ญาติพี่น้องนำไปประดิษฐานที่วัดตะเครา เมืองเพชรบุรี
วัดศรีจำปานี้ต่อมาได้ชื่อว่าวัดบ้านแหลม แลต่อมาได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชั้นวรวิหาร และได้รับพระราชทานนามว่า วัดเพชรสมุทวรวิหาร
บาตรแก้วสีน้ำเงินที่เห็นอยู่ปัจจุบัน สมเด็จพระเจ้าบรมเธอกรมพระยาภาณุพันธุ์วงศ์วรเดช ได้ถวายไว้เนื่องจาก บาตรเดิมอาจจมหายอยู่ในน้ำ ก่อนที่ชาวประมงจะได้จากทะเลปากอ่าวแม่กลอง