พระพุทธเจ้าทรงมีพระนามเดิม "สิทธัตถะ"
(สันสกฤตว่า สิทธารถะ) และพระนามโดยโคตรว่า "โคตมะ"
(สันสกฤตว่า เคาตมะ) พระองค์ดำรงพระชนม์ชีพอยู่ในประเทศอินเดียทางตอนเหนือ
ราวศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสต์ศักราช พระราชบิดาของพระองค์มีพระนามว่า
"สุทโธทนะ" เป็นกษัตริย์ครองอาณาจักรแห่งชาวศากยะ
(ในประเทศเนปาลปัจจุบัน พระราชมารดาของพระองค์พระนามว่า "
พระราชินีมายา "
ตามประเพณีในสมัยนั้น พระองค์ได้อภิเษกสมรสตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์มาก
คือ เมื่อพระชนม์ได้ 16 พรรษา กับเจ้าหญิงผู้เลอโฉม และจงรักภักดี
ผู้มีพระนามว่า "ยโสธรา" เจ้าชายหนุ่มประทับอยู่ในราชวังของพระองค์
พรั่งพร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกสะบายนานัปการ แต่โดยที่ไม่คาดคิด
เจ้าชายได้ทรงพบความจริงแท้ของชีวิต และความทุกข์ยากของมนุษยชาติ จึงได้ตัดสินพระทัยที่จะหาทางแก้ไขปัญหากล่าวคือ
หนทางพ้นไปจากทุกข์ที่มีอยู่ทั่วไปในสากลโลก เมื่อพระชนมายุได้ 29
พรรษา ภายหลังจากที่พระโอรสของพระองค์ประสูติแล้ว คือ เจ้าชายราหุล
ไม่นานนัก พระองค์ก็ได้เสด็จจากอาณาจักรของพระองค์ไปทรงผนวชเป็นนักบวช
(ฤาษี) เพื่อแสวงหาทางแก้ไขทุกข์นั้น
นับเป็นเวลาถึง 6 ปี พระฤาษีโคตมะได้จาริกไปในแถบลุ่มแม่น้ำคงคา
ได้ทรงพบกับคณาจารย์สอนศาสนาที่มีชื่อเสียง พระองค์ได้ทรงศึกษา และปฏิบัติตามระบบและวิธีการของอาจารย์เหล่านั้น
และได้ทรงยอมลดพระองค์ลงรับข้อปฏิบัติแบบการทรมานร่างกายอันหนักยิ่ง
แต่ข้อปฏิบัติแห่งหลักการและระบบศาสนาเหล่านั้น ไม่ทำให้พระองค์ทรงพอพระทัยเลยแม้แต่น้อย
เหตุนี้พระองค์จึงได้ละทิ้งศาสนาที่มีมาแต่ดั้งเดิมทั้งหมด พร้อมทั้งวิธีการของศาสนาเหล่านั้นเสีย
กลับดำเนินไปตามวิถีทางของพระองค์เอง หลังจากนั้นมาจนกระทั่งคืนวันหนึ่ง
พระองค์ได้ประทับนั่งอยู่ที่ภายใต้ต้นไม้ต้นหนึ่ง (แต่นั้นก็รู้จักกันโดยชื่อว่า
"ต้นโพธิ์" หรือต้นไม้ตรัสรู้) ณ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา
ที่พุทธคยา (ใกล้ตำบลคยาในรัฐพิหารปัจจุบัน) เมื่อพระชนม์ได้ 35 พรรษา
พระโคตมะ ก็ได้บรรลุพระโพธิญาณ ซึ่งภายหลังจาการบรรลุพระโพธิญาณนั้นแล้ว
พระองค์ก็เป็นที่รู้จักกันในพระนามว่า "พระพุทธเจ้าหรือพระผู้ตรัสรู้แล้ว"
หลังจากการตรัสรู้ของพระองค์แล้ว พระโคตมะพุทธเจ้า
ก็ได้ทรงประทานเทศนากัณฑ์แรกแก่ปัญจวัคคีย์ ซึ่งเป็นสหายร่วมรุ่นปฏิบัติธรรมมาแต่แรกเริ่มของพระองค์
ณ สวนกวาง ป่าอิสิปตนะมฤคทายวัน (สารนาถในปัจจุบัน) ใกล้เมืองพาราณสี
นับตั้งแต่พระองค์ออกบวชเป็นต้นมา เป็นเวลา 45 พรรษา/ปี พระองค์ก็ได้ทรงสั่งสอนมนุษย์ชาย
หญิงทุกชนชั้น กล่าวคือ ทั้งกษัตริย์ ชาวนา พราหมณ์ จัณฑาล คฤหบดี
ขอทาน นับบวช โจร โดยมิได้ทรงแบ่งแยกชนชั้นสักนิดเดียวในหมู่ชนเหล่านั้น
พระองค์มิได้ทรงยอมรับความแตกต่างกันแห่งวรรณะ หรือการแบ่งกลุ่มชนในสังคมเลย
หนทางที่พระองค์ทรงสั่งสอนนั้น ก็ทรงเปิดรับมนุษย์ชายหญิงทุกคนผู้พร้อมที่จะเข้าใจ
และปฏิบัติตามพระองค์
เมื่อพระองค์มีพระชนมายุได้ 80 พรรษา
พระพุทธเจ้าก็เสด็จดับขันธปรินิพพาน (มรณภาพ) ที่ เมืองกุสินารา (ปัจจุบันอยู่ในเขต
รัฐอุตตร(เหนือ) ประเทศของอินเดีย)
ปัจจุบันนี้ พระพุทธศาสนามีปรากฏอยู่ในประเทศ
ศรีลังกา พม่า ไทย กัมพูชา ลาว เวียดนาม จีน ธิเบต ญี่ปุ่น มองโกเลีย
เกาหลี เกาะฟอร์โมซา (ไต้หวัน) ในบางส่วนของประเทศอินเดีย ปากีสถาน
เนปาล กับทั้งในสหภาพโซเวียตด้วย รวมประชากรชาวพุทธทั่วโลกมีจำนวนเกินกว่า
500 ล้านคน
เจตนคติของชาวพุทธ
ในบรรดาศาสดาแห่งศาสนาทั้งหลาย พระพุทธเจ้า
(ถ้ายอมให้เราเรียกพระองค์ ว่าเป็นศาสดาผู้ก่อตั้งศาสนาตามความหมายของศัพท์ที่เข้าใจกัน)
ทรงเป็นศาสดาองค์เดียวเท่านั้น ที่ไม่ได้ทรงอ้างพระองค์ว่า เป็นอะไรอื่นนอกจากมนุษย์ธรรมดา
และบริสุทธิ์ ศาสดาทั้งหลายอื่นนั้น ถ้าไม่เป็นพระเจ้าเสียเอง ก็เป็นการอวตารของพระเจ้าในรูปแบบต่าง
ๆ หรือมิฉะนั้นก็เป็นผู้ที่พระเจ้าบันดาลขึ้นมา พระพุทธเจ้าไม่เป็นเพียงมนุษย์ธรรมดาเท่านั้น
แต่พระองค์ยังไม่ทรงอ้างการดลใจจากเทพเจ้าองค์ใด องค์หนึ่ง หรืออำนาจภายนอกอย่างใด
อย่างหนึ่งอีกด้วย พระองค์ถือว่า การตรัสรู้ การบรรลุธรรม และความสำเร็จของพระองค์ทั้งหมด
เป็นความพยายามของมนุษย์และเป็นสติปัญญาของมนุษย์ มนุษย์และเฉพาะ
มนุษย์เท่านั้นสามารถจะเป็นพระพุทธเจ้าได้
มนุษย์ทุกคนมีศักยภาพ (ความสามารถในตัวเอง) ในการเป็นพระพุทธเจ้าอยู่ในตัวเอง
ถ้าหากเขาปรารถนาอย่างนั้น และมีความเพียรพยายาม เราจะเรียกพระพุทธเจ้าว่า
เป็นมนุษย์ผู้ยอดเยี่ยมก็ได้ พระพุทธเจ้านั้นทรงมีความเป็นมนุษย์อยู่ในพระองค์เสียจนกระทั่งว่า
ในภายหลังพระองค์ได้รับการนับถือในศาสนาของชาวบ้านประหนึ่งว่า เป็นมนุษย์ผู้วิเศษ
ตามหลักของพระพุทธศาสนา ฐานะของมนุษย์เป็นฐานะที่สูงสุด
มนุษย์เป็นนายของตนเอง และไม่มีผู้วิเศษหรือพลังอื่นใดที่จะมาตัดสินชี้ขาดชะตากรรมของมนุษย์ได้
พระพุทธองค์ตรัสว่า "ตนเป็นที่พึ่งของตน
คนอื่นใครเล่าจะเป็นที่พึ่ง(ของเราได้)" พระองค์ทรงเตือนสาวกทั้งหลายของพระองค์ให้เป็นที่พึ่งแต่ตนเอง
และไม่ให้แสวงหาที่พึ่งในคนอื่น หรือขอความช่วยเหลือจากคนอื่นใดเลย
พระองค์ได้ตรัสสอนส่งเสริมและกระตุ้นเตือนให้บุคคลแต่ละคนพัฒนาตนเอง
และทำความหลุดพ้นของตนให้สำเร็จ เพราะมนุษย์มีพลังที่จะปลดเปลื้องตนเองจากสังโยชน์(เครื่องผูกรัด)
โดยอาศัยความเพียรและสติปัญญาส่วนเฉพาะตัวได้ พระพุทธองค์ตรัสว่า
"ท่านทั้งหลายควรทำกิจของตนเอง เพราะว่าตถาคตทั้งหลายเพียงแต่บอกทางให้"
หากพระพุทธเจ้าจะได้รับขนานนามว่า "พระผู้ไถ่บาป" (พระมหาไถ่)
แล้วไซร้ ก็จะเป็นได้เฉพาะในความหมายที่ว่าพระองค์ได้ทรงค้นพบและทรงชี้แนวทาง(มรรคา)ไปสู่ความหลุดพ้นคือ
พระนิพพาน เท่านั้น แต่เราจะต้องปฏิบัติตามมรรคานั้นด้วยตัวของเราเอง
ด้วยหลักแห่งความรับผิดชอบของบุคคลแต่ละคนนี้แหละ
ที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้สาวกของพระองค์มีอิสระภาพในมหาปรินิพพานสูตร
พระองค์ตรัสไว้ว่า "พระองค์ไม่เคยดำริที่จะบังคับควบคุมคณะสงฆ์เลย
และทั้งไม่ประสงค์จะให้คณะสงฆ์พึ่งพาอาศัยพระองค์" พระองค์ตรัสว่าไม่มีหลักธรรมวงใน
ในคำสั่งสอนของพระองค์ ไม่มีสิ่งใดซ่อนไว้ในมือของอาจารย์ หรือไม่มีสิ่งใดซ่อน-ปิดบังอำพราง
ไว้ในแขนเสื้อ
เสรีภาพทางความคิดที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตนี้
ไม่มีใครเคยได้ยินมาก่อนในที่อื่นใดในประวัติศาสตร์แห่งศาสนาทั้งหลาย
เสรีภาพข้อนี้เป็นสิ่งจำเป็น เพราะเหตุว่าตามที่พระองค์ตรัสสอนไว้นั้นความหลุดพ้นของมนุษย์ต้องอาศัยการทำให้แจ้งสัจธรรมด้วยตัวเอง
มิได้อาศัยความกรุณาจากพระเจ้าองค์ใด หรือจากอำนาจภายนอกใด ๆ เพื่อเป็นรางวัลสำหรับความประพฤติที่ดีงามมีความเชื่อฟังต่อพระองค์
|