ปัจจุบันสำคัญที่สุด - หลวงพ่อพระมหาประกอบ ธมฺมชีโว

Dargonfly

<
อ่ะตั้งใจกาลเวลาต่อไปนี้ เป็นกาลเวลาเฉพาะบุคคลแต่ละคนที่ตั้งใจ
มาเพื่อประพฤติวัตรปฏิบัติธรรมในความหมายก็หมายถึง
มาเพื่อฝึกฝนอบรมจิตใจของตนของตน
แสดงออกให้เห็นถึงความตั้งใจ ที่ต้องการความสงบให้เกิดขึ้น
กับใจของตนเป็นสำคัญ เราจึงมุ่งหน้าหาที่สงบหาที่เจริญสติสัมปชัญญะ
เพื่อเป็นเครื่องมือ กับการหล่อหลอมใจของเราถ้ามีความตั้งใจ
ต้องการความสงบก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มที่ดีงาม
ตรงกันข้ามถ้ามุ่งหวังตั้งใจที่จะก่อความเดือดร้อนวุ่นวายให้เกิดขึ้น
ก็เป็นเครื่องบ่งบอกให้เห็นถึงภาวะจิตใจ
ที่มีจุดประสงค์แตกต่างกันออกไป
ทุกคน ๆ มีความตั้งใจที่จะทำความสงบให้เกิดขึ้น
ซึ่งความสงบนั้นแม้เราจะมองออกไปข้างนอก ว่าหาที่อันสงบ
สัปปายะ กับการปฏิบัติธรรม เช่นที่นั่งที่นอนปราศจากผู้คนพลุกพล่าน
ปราศจากเสียงรบกวนหาที่หลีกเร้นไม่พลุกพล่านด้วยผู้คน
ไม่อึกทึกครึกโครมด้วยเสียงต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้จิตของเราแปรผัน
ไปกับเสียงนั้น ๆ ได้ สำหรับผู้มุ่งมั่นตั้งใจเบื้องต้นเราจึงแสวงหา
ที่นั่งที่นอนอันสงบสงัดเป็นเครื่องมือ กับการประพฤติปฏิบัติทางใจ
เมื่อเรามาประพฤติปฏิบัติเราก็จะเห็นได้ว่าภายนอกมีความสงบสงัดพอ
พอมองเข้ามาภายในคือตัวของเรา เราก็จะเห็นได้ว่า กายของเราสงบ
วาจาของเราสงบ ที่เหลืออยู่ก็คือใจ ที่ยังต้องจดจำสัญญาอารมณ์ต่าง ๆ
มาปรุงแต่ง ให้เป็นปัจจุบันขึ้นมาให้เป็นอนาคต คือที่จำได้หมายรู้นั้น
คืออดีตนึกได้ในปัจจุบันถึงอารมณ์ในอดีตจากนั้นก็ปรุงแต่งเป็นสังขาร
ต่อเติมไปข้างหน้าเป็นความหวังเป็นจินตนาการปรุงแต่งให้มันเป็นเช่นนั้นเช่นนี้
โดยมีสมมุติฐานจุดเริ่มต้นมาจากใจของเราที่เอาสัญญาอารมณ์เก่า
มาตั้งในปัจจุบัน แล้วต่อเติมขยายต่อไปในอนาคต ตามความเข้าใจคิดว่า
มันจะเป็นเช่นนั้นเช่นนี้
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นสิ่งที่ผ่านมาแล้วก็ไม่อาจสามารถที่จะแก้ไขได้
มีแต่จิตนาการปรุงแต่งไปเท่านั้นเอง ความเป็นจริงเป็นไปไม่ได้
เหมือนกับเราพลัดพรากจากสิ่งที่รัก เราสูญเสียสิ่งที่ยินดีพอใจ
จะให้โศกเศร้าเสียใจพิไรรำพรรณ สักเพียงใดก็ตาม ก็ไม่อาจสามารถ
ที่จะให้สิ่งนั้นฝืนคืนมา เป็นปัจจุบันได้ มีแต่เราเท่านั้นที่รำลึกนึกถึง
ก่อให้เกิดความทุกข์ขึ้นภายในใจ แม้จะจินตนาการเพื่อให้มันเปลี่ยนแปลง
เป็นเช่นนั้นเช่นนี้ ตามที่เราอยากจะให้เป็น เช่นกลับมาฝืนคืนมาได้คืนมา
หรือว่าสิ่งที่ไม่ชอบใจอยากจะให้มันพินาศฉิบหายไป ก็ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
มีแต่ปรุงแต่งเป็นสภาพสังขารไปในอนาคตเท่านั้นเอง
เพราะว่าคำว่าอนาคตหมายถึงว่ายังไม่ถึง
จะให้ปรุงแต่งอย่างไรก็ไปไม่ถึง เป็นจริงไม่ได้
ส่วนในปัจจุบันที่เรานั่งอยู่ตรงนี้ หายใจเข้าหายใจออก
นั่งอยู่ในท่านี้ ตั้งสติสำรวจตรวจดูว่าเราตั้งใจจะเจริญธรรมกรรมฐาน
นั่งขัดสมาธิขาขวาวางทับขาซ้ายมือขวาวางทับมือซ้าย
ตั้งกายให้ตรง ไม่เอนไปข้างหน้าไม่โอนไปข้างหลัง
ไม่ไปซ้ายไปขวา ไม่งุ้มหน้าไม่แหงนหน้า ท่านจึงเรียกว่า ตรง
อุชุกายัง ปณิธายะ ตั้งกายให้ตรงเพื่อที่จะให้ร่างกายทำงานได้สะดวก
ไม่อึดอัดขัดข้อง ลมปราณก็เดินเข้าออกได้สะดวก หลับตาเบา ๆ
ทำความรู้สึกว่าเรานั่งอยู่ตรงนี้ มีความรู้สึกตัว ท่านเรียกว่าสัมปชัญญะ
สัมปชัญญะ หมายถึงรู้ตัว รู้ตัวว่าเรานั่ง เราเป็นใคร เราเป็นคน
เราเป็นพระเป็นเณรเป็นโยมเป็นอุบาสกอุบาสิกา หรือเป็นคน
นั่งอยู่ตรงนี้ ทำความรู้สึกเข้าใจอยู่ในปัจจุบันนี้ หายใจเข้าหายใจออก
ให้เป็นปกติไม่ต้องไปบังคับให้มันยายให้มันสั้น
ให้เป็นไปปกติตามที่ร่างกายเขาต้องการ เราเป็นแต่เพียงรู้ว่าเรานั่ง
รู้ว่าเราหายใจเข้าออก อันนี้คือแนวปฏิบัติโดยทั่วไปของการเจริญ
ธรรมกรรมฐาน รู้อยู่ในปัจจุบันอะไรจะเกิดขึ้น เราก็ไม่ได้ต้องไปปรุงแต่ง

เก็บหนังสือพับให้มันดีพัดลมมันพัดดังป๊อกแป๊ก ๆ อยู่นั้น
รู้ว่ามันรำคาญก็แก้ไขหน่อยสิ อย่าไปเปิดหนังสืออย่าไปอ่านหนังสือ
ภาคปฏิบัติไม่ใช่ภาคอ่านภาคท่องจำ ดูใจของตนเอง ฝึกใจของตนเอง
ฝึกกายก็เหมือนกับฝึกใจไปในตัว เพราะกายถูกใจบังคับควบคุมให้นั่ง
อยู่ในท่านี้วางท่านี้ ตั้งจิตอธิษฐานอย่าไปขยับอย่าไปเปลี่ยนแปลง
อย่าไปดื่มไปกิน จึงเรียกว่าการเจริญธรรมกรรมฐาน
เพราะคำว่าสงบต้องสงบจากกายถ้ากายเราควบคุมยังไม่ได้
ใจก็ไม่เข้มแข็งพอ ถ้าใจเข้มแข็งพอก็ควบคุมกายได้
เมื่อควบคุมกายได้ ใจจะนึกคิดไปในทางใดก็แล้วแต่
สุดท้าย...มันก็อยู่ที่กายของเรานี่แหละ มันไม่หนีไปไหนหรอก
แม้เราจะมีเวลาเพียงน้อยนิดกับการเจริญธรรมกรรมฐาน
แต่ก็เป็นผลมาจากที่เราศึกษาได้เล่าเรียน
ได้ประพฤติปฏิบัติมาพอควร เรามาต่อเติม มาศึกษาเรียนรู้
เพื่อให้เกิดความชำนาญขึ้นมา เกิดกำลังใจกับหมู่กับคณะ
กับครูบาอาจารย์ที่มาร่วมกันประพฤติปฏิบัติ
เกิดพลังรวม แต่ละจิตที่มุ่งมั่นต่อความสงบเป็นหลัก
จะเกิดพลังขึ้นมาหนุนเนื่องซึ่งกันและกัน การปฏิบัติรวมกลุ่ม
เป็นหมู่เป็นคณะจึงมีพลังพิเศษ คนมีสมาธิกำลังสมาธิมากก็ดึง
คนมีกำลังสมาธิน้อย เรียกว่าถัวเฉลี่ยช่วยเหลือเกื้อกูลดึงดูด
ซึ่งกันและกัน เป็นพลังที่มุ่งเข้าไปหาความสงบ
พ่อแม่ครูบาอาจารย์ ท่านจึงนิยมมาให้ประพฤติปฏิบัติรวมกันเป็นกลุ่ม
เป็นคณะเป็นเครื่องบ่งบอกให้เห็นถึงความสงบที่มันจะเกิดขึ้นด้วยพลังสามัคคี
กำลังสามัคคีนี่แหละที่จะเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ต่อต้าน กิเลสตัณหาอุปาทาน
ทุกคนมีกิเลสมีตัณหามีความยึดมั่น ทุกคนก็มีความตั้งใจ
ที่จะถอดถอนกิเลสตัณหาอุปาทาน เมื่อทุกคนมีความตั้งใจเช่นนั้น
ก็มองทุกคนว่ามีความตั้งใจที่ไม่แตกต่างกัน
ถ้าหากว่าเราเพียงคนเดียวที่ดื้อรั้น นั่งปรุงแต่งไปในทางลามกสกปรก
จิตหงุดหงิดงุ่นง่านฟุ้งซ่าน ให้ทำความรู้สึกเหมือนกับพระพุทธเจ้า
นั่งประทับอยู่ แล้วเห็นพฤติกรรมทางจิตใจของเราว่าเราคิดปรุงแต่ง
ไปในทางใดอย่างไร มันเกิดความละอายใจ ว่าเราคิดไม่สมกับเป็นอุบาสกอุบาสิกา
คิดไม่สมกับเป็นพระเป็นสามเณร คิดไม่สมกับว่าเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้า
น่าละอายใจว่านั่งอยู่ต่อหน้าพระพุทธเจ้าแท้ ๆ ก็ยังคิดในเรื่องที่ไม่ดีไม่งาม
เมื่อเรานึกได้อย่างนี้ มันก็เหมือนกับว่าเรารู้ตัว
ที่ในความหมายว่าพระพุทธเจ้ารู้เรา นั้นก็หมายถึงว่าความเป็นพุทธะ
ในจิตใจของเรานี่ ตื่นตัวขึ้นมา ถูกปลุกขึ้นมา เพื่อให้รู้ตัว

เพราะความรู้มีอยู่กับจิตทุกดวง แต่ถูกตัวตัณหาอุปาทานนี้ครอบงำ
เหมือนกับเขม่าตะเกียงโคมไฟ ที่มันปิดกั้นแสงสว่างไม่ให้เล็ดลอดออกมา
ถ้าเราไม่เช็ดไม่ทำความสะอาด แม้แสงสว่างนั้นจะมีแรงเทียนสูงสักเพียงใดก็แล้วแต่
มันก็ไม่สามารถที่จะเรืองแสงออกมาภายนอก
จิตใจของเราท่านทั้งหลายก็เหมือนกัน มีแสงสว่างอยู่ภายใน คือความเป็นพุทธะ
ทุก ๆ ดวงใจอยู่แล้ว แต่เราถูกอำนาจของกิเลสตัณหาอุปาทานที่สั่งสมมานับภพ
นับชาตินับวันนับเดือนไม่ถูก ในแต่ละคืน...แต่ละวันคิดแต่อยากจะได้
คิดอยากจะเป็นคิดอยากจะได้รูปเสียงกลิ่นรสสัมผัสอารมณ์อันหน้าปราถนา
น่ารักน่าใคร่น่าพอใจอยู่ตลอดทั้งวันทั้งคืน
พอได้มาแล้วก็ยึดติดอยู่อย่างนั้นกลัวมันจะสูญหาย กลัวมันจะพลัดพรากจากเรา
กลัวเราจะพลัดพรากจากมัน ก็กลายเป็นความหวงความห่วง
เหมือนกับห้วงน้ำที่เต็มปริม ท่วมล้นอยู่ ทุกขณะชุ่มชื่นอยู่ทุกขณะ
จิตใจที่หมกมุ่นขุ่นข้องชุ่มชื่นอยู่กับกิเลสตัณหาอุปาทานก็เช่นเดียวกัน
พอเรามาตั้งใจทำความรู้สึกนึกคิดว่าเราได้ปิดกั้นสิ่งเหล่านี้
ทำความสะอาดสิ่งเหล่านี้ให้ออกไป เพื่อจะได้เห็นใจอันประภัสสรนี้
แม้ไม่มากไม่น้อย หากมีความเพียรพยายาม อยู่สม่ำเสมอ
มันก็จะประสบผลสำเร็จขึ้นมาได้ไม่วันใดก็วันหนึ่ง
ไม่ขณะใดก็ขณะหนึ่ง ไม่เหนือไปจากความเพียรที่ผู้รู้ท่านกล่าวไว้อย่างแน่นอน
ที่พระพุทธองค์ตรัสว่า
วิริเยน ทุกขมะ เจติ
จะพ้นทุกได้ก็เพราะความเพียร จะพ้นบาปได้ก็เพราะความเพียร
จะพ้นป่วงกรรมชั่วร้ายทั้งหลายได้ก็เพราะความเพียร
ความเพียรเท่านั้นที่จะทำให้พ้นทุกข์ เพราะคำว่าทุกข์มีอะไรบ้างมากมาย
ที่เราท่านทั้งหลายก็เข้าใจกันดีอยู่แล้ว
เช่นความแก่ นี่ก็เป็นทุกข์จะเอาชนะมันได้ด้วยวิธีไหน
ก็ต้องชนะได้ด้วยความเพียร ความเจ็บไข้ได้ป่วยนี้ก็เป็นทุกข์
มรณะภัยคือความตายนี่ก็เป็นทุกข์ เมื่อนึกถึงสิ่งเหล่านี้ทีไร
ทำให้เกิดกัดกลุ้มรุ่มร้อน ไม่สะดวกใจไม่สบายใจ
ถ้าเราไม่เพียร เราก็ไม่อาจสามารถที่จะยกระดับให้อยู่เหนืออารมณ์เหล่านี้
หรือเหนือความเป็นเหล่านี้ที่จะเกิดขึ้น
ความพลัดพรากจากสิ่งที่รัก การได้พบได้เห็นสิ่งที่ไม่พอใจ ท่านทั้งหลายก็ลองคิดดูว่า
มันทุกข์ นั้นแหละคือบ่วงกรรม ปราถนาอย่างหนึ่ง กลับได้อีกอย่างหนึ่ง
เรียกว่าไม่สมปราถนา หรือเรียกว่าผิดหวังอยู่ตลอดไม่สมกับที่อยากได้
นั้นแหละคือบ่วงของกรรม ล้วนแล้วแต่เป็นผลของกรรมจึงเกิดขึ้นจากการกระทำของเราทั้งนั้น
เราจะตัดบ่วงกรรมเหล่านี้ด้วยวิธีไหน
จุดธูปจุดเทียนบูชาอ่อนวอนขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์โน้นนี่
นับครั้งนับคราวไม่ถ้วน ก็ไม่เห็นมันหาย
หรือทำพิธีสะเดาะห์เคราะห์ต่อชะตา อาบน้ำมนต์
ก้าววัดเจ็ดวัดก็ไม่เห็นมันหาย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระองค์วางหลักปฏิบัติไว้ชัดเจนมาก นั้นก็คือจงเพียรพยายาม
ทำจิตของเรานี้ ให้ปล่อยวางอดีตอนาคต อยู่กับปัจจุบันนี้ให้ได้
จะเป็นการปลดบ่วงกรรมที่ผูกมัดรัดรึงในจิตของเรานี้
ให้เป็นอิสระ แม้เกิดขึ้นช่วงช้างพับหู ช่วงงูแลบลิ้น
ขณะเดียวเท่านั้นก็เกิดเป็นมหากุศลอันยิ่งใหญ่ เป็นพลังขึ้นในจิตในชีวิตของเรา
จิตดวงนั้นชีวิตของคนคนนั้นจะเปลี่ยนแปลงทันที
ขอให้เรามุ่งมั่นตั้งใจ สามารถสลัดวางกิเลสตัณหาอุปาทาน
ให้ได้สักครั้งใดครั้งหนึ่ง ช่วงระยะสั้น ๆ ขอให้ทำเถอะ ผลจะเกิดขึ้นกับจิตดวงนี้
โดยไม่ต้องสงสัย อันนี้แหละคือเส้นทางการประพฤติปฏิบัติ
เป็นฐานอันสำคัญที่จะก้าวขึ้นไปสู่มรรคสู่ผลสู่ความดับสนิท
คือพระนิพพาน ถ้าเราไม่สามารถยังความสงบให้เกิดขึ้นกับจิตดวงนี้ได้
มุ่งหวังที่จะรู้เข้าใจสิ่งอื่น ๆ จึงเป็นเรื่องเกิดขึ้นได้ยาก
ดังนั้นสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน
จึงเป็นเส้นทางอันสำคัญที่พระพุทธเจ้าทรงแนะนำพร่ำสอน
ว่าคือจุดที่ดับเสียได้ซึ่งเวรกรรม ดับเสียได้ซึ่งเคราะห์กรรม
ดับเสียได้ซึ่งความยึดมั่นถือมั่นนานับประการ
ทำให้จิตของเราเป็นอิสระขึ้นมาได้ มีความเป็นใหญ่
มีความเป็นตัวของตัวเอง มีความสามารถในการที่จะบังคับบัญชา
สิ่งอื่น ๆ ให้เป็นไปตามกำลังของสมาธิที่เรามีที่เราฝึกได้
โดยความหมายก็หมายถึงว่าจะทำให้เรามีกำลังทางด้านจิตใจ
นึกคิดดำริตริตรองในสิ่งใดก็จะเป็นผลเกิดขึ้น
กับชีวิตของเรา นั้นคือความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งเราจะต้องปลดเปลื้อง
หรือก่อให้เกิดขึ้นภายในจิตของเราเป็นเบื้องต้น
เราจึงมุ่งมั่นมาประพฤติปฏิบัตินั้นเอง
ความอดทนหนักแน่นเข้มแข็งต่ออุปสรรค์ต่าง ๆ ที่มันบีบคั้นเข้ามา
พอเราทำความเพียร มันเหมือนกับเราเดินทาง มันต้องทุกข์
มันต้องยากลำบาก มันต้องเหนื่อยมันต้องร้อน เหมือนเครื่องจักรกลที่เราสตาร์ทขึ้นมา
แต่ละจุด แต่ละจุดที่มันทำงานไม่ใช่ว่ามันสะดวกสบาย
มันเหนื่อย มันสึกกร่อนมันเบียดเสียดสีร้อนอุณหภูมิสูงเป็นร้อย ๆ องศานิ
แต่ก็ต้องทำเช่นนั้นถึงจะเคลื่อนไปได้
มุ่งหวังกับการที่จะเคลื่อนไปได้ แต่ก็ต้องยอมความสึกหล่อ ความเจ็บปวดที่มันจะเกิดขึ้น
กับเครื่องยนต์กลไก ร่างกายสังขารก็เหมือนกัน
พอเราบอกว่ามาทำความเพียร ร่างกายที่มันไม่พร้อมยังไม่ชำนิชำนาญ
มันก็เกิดเป็นอุปสรรค์ เรียกว่าขันธมาร
มารคือร่างกายสังขารหรือขันของเรานี้
มันจะบีบเข้ามาเกิดเวทนา เกิดสัญญาอารมณ์เกิดการปรุงแต่ง
ส่งเข้าไปเป็นความรู้ทางด้านจิตใจ
ทำให้เกิดท้อถอย ทำให้เกิดเบื่อหน่าย เพราะเราอยู่ใต้อำนาจของกิเลส
ก็มีแต่ทางที่จะถอย ถ้าเรามีสติสัปปชัญญะ
จิตใจก็หึกเหิมมีขันติธรรมที่จะสูงต่อไป เพราะว่ารู้อยู่แล้วว่า
เมื่อสู้ต่อไป ก็คือต้องชนะ ไม่ได้หมายถึงว่า สู้แล้วชนะ เหมือนเราเดินต่อไป
มันต้องได้ความยืดยาวของพื้นที่
ยิ่งเดินก็ยิ่งได้ ถึงจะเหนื่อยก็ต้องเดินเพื่อที่จะให้มันได้
การบำเพ็ญเพียรจึงไม่ได้หมายถึงว่าสะดวกสบายง่าย
เหมือนกับการทำอย่างอื่น แต่หมายถึงว่ามันต้องทุกข์แล้วก็ต้องไป
เดินทางไปบนฐานของความทุกข์นี่แหละ เพราะว่าความทุกข์นี่แหละ
ก็คือทางที่เรามุ่งมั่นตั้งใจว่าจะไปให้มันพ้น
เหมือนเราเดินทางน้ำ เพื่อที่จะขึ้นบก นั้นก็หมายถึงว่าน้ำมันจะยาวเท่าไหร่
ไกลเท่าไหร่ ขึ้นอยู่กับสติปัญญาของเราที่จะหาเครื่องไม้เครื่องมือ
เพื่อที่จะให้ข้ามพ้นน้ำนั้นไป ถ้ามีกำลังไหว้ไปก็ได้
ถ้ามีความฉลาดต่อเรือต่อแพ ล้วนแล้วแต่
จะต้องฟันฝ่าอุปสรรค์ไป ที่มันจะเกิดขึ้นท่ามกลางของการดำเนิน
ความเพียรที่เราทำก็เช่นเดียวกัน
ยิ่งมีอุปสรรคมาก ก็บ่งบอกให้เห็นว่ามีกรรมมาก
ก็เป็นเครื่องกระตุ่นให้เรามีกำลังใจว่า เรายิ่งต้องใช้พลังมาก
ต้องอดทนมาก ถึงจะประสบผลสำเร็จ
นั้นคือเส้นทาง ดังนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ตอนที่พระองค์ทรงบำเพ็ญเพียรเมื่อได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว
พระองค์จึงสรุปลง ถึงข้อปฏิบัติที่ว่าวิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ
ถ้าหากว่าไม่มีความเพียรเสียแล้ว พระองค์ก็ไม่มาถึงตรงนี้
เพราะมีความเพียรจึงมาถึงตรงนี้
พอดูบทบาทของความเพียร ทุกข์แสนสาหัส
เรียกว่าแทบเป็นแทบตาย
จึงได้สิ่งอันเลอเลิศอันนี้มา แนวทางของพระพุทธเจ้า
ที่พระองค์ทรงมาแนะนำพร่ำสอนสาวกก็คือแนวทางอันเดียวกัน
สาวกประสบผลสำเร็จมาแนะนำพร่ำสอนสืบทอดมาจนถึงพวกเรา
ก็คือแนวทางอันเดียวกันอย่าไปคิดว่ามันมีทางอื่น มีวิธีอื่น
ไม่มีวิธีไหนที่จะนอกเหนือไปจากที่พระพุทธเจ้าพระอริยสาวกสงฆ์เจ้าทั้งหลาย
วางเป็นข้อปฏิบัติไว้ ไม่มี...อย่าไปคิดว่าตรงนั้นตรงนี้
ไปไหว้ไปอ่อนวอนไปขอพร ไม่มีในคำสอนของพระพุทธเจ้า
ในแนวทางที่พระพุทธเจ้าดำเนินมา ล้วนแล้วแต่ลงมือประพฤติปฏิบัติด้วยความเพียร
พยายามมุ่งมั่นตั้งใจทั้งนั้นเลย ก็ขอให้ทุกท่านตั้งใจ ดูลมหายใจ
หากมันละเอียดไปก็กำกับคำว่า พุทโธ ธัมโม สังโฆ
พุทโธ ธัมโม สังโฆ แล้วก็พุทโธ ๆ พุทโธ เรื่อยไป จะพร้อมกับหายใจเข้าใจออก
ก็ได้ หรือวางลมหายใจอยู่กับคำบริกรรมว่าพุทโธ ๆ คำเดียวในปัจจุบันนี้ต่อเนื่อง
ให้มีสติคือระลึกสัมปชัญญะคือรู้ตัว ว่าเราบริกรรมพุทโธ
ถ้ามันอารมณ์อื่นเข้ามาแทรกก็ควบคุมบังคับ บอกมันแนะนำมัน
สอนมันขู่มัน บังคับมัน หรือว่า ว่ามัน ว่าตัวเราเองนั้นแหละ
ก็บอกให้บริกรรมพุทโธ จะไปคิดเรื่องอื่น เอาเรื่องอื่น มาปรุงมาแต่งมาคิดทำไม
สอนตนเองว่าตนเอง ขู่ตนเองบังคับตนเอง ด่าตนเองอยู่ในใจนั้นแหละ
ถ้าไม่งั้น มันจะไม่หายพยศจะเอาแต่ใจตามใจ เคยตามใจตนเองมาตลอด
มาควบคุมใจของตนเองบ้าง ถ้าไม่เช่นนั้น
เราก็จะไม่รู้จิตใจมันหงุดหงิดหงุดง่านฟุ้งซ่านพยศสักเพียงใด
พอเรามาภาวนานิ เราถึงจะรู้ว่า ตัวเราเนี้ยไปคนมีกิเลสหนา ปัญญาน้อย
เป็นคนไม่มีความอดทน เป็นคนโลภเป็นคนมักมาก เป็นคนขี้โกรธขี้เกลียด
เราจะรู้ได้ ด้วยตัวของเราเองก็ปรับปรุง จิตใจของเราให้มันชุ่มเย็นด้วย
คำบริกรรมว่าพุทโธ ๆ เรื่อยไป ก็ขอให้ทุกท่านตั้งใจ
เราจะใช้เวลาประมาณสามสิบนาทีต่อไปนี้ เสียงสัญญาณดังขึ้น
แล้วเราก็จะสาธยายมนต์แผ่เมตตา

อบรมธรรมกรรมฐาน
หลวงพ่อพระมหาประกอบ ธมฺมชีโว
ณ วัดป่ามหาไชย
อาทิตย์ที่ 13 กุมภาพันธ์ 2565   




 6,371 

  ความคิดเห็น


RELATED STORIES



จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย