พระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้า พระไตรปิฎก หัวข้อธรรม การปฏิบัติธรรม ศาสนพิธี วันสำคัญทางศาสนา ทำเนียบวัดไทย พระพุทธศาสนาในประเทศไทย
 
หน้าแรก คลังหนังสือธรรมะ คู่มือดับทุกข์
คู่มือดับทุกข์


 วิธีดับทุกข์ เพราะ..ลูก

           พระพุทธองค์ได้ตรัสถึงลูกไว้ในปุตตสูตร (๒๕/๒๕๗) ว่ามีอยู่ ๓ ประเภท คือ อภิชาตบุตร อนุชาตบุตร อวชาตบุตร โดยทรงยกเอาศีล ๕ มาเป็นมาตรวัดไว้ ดังนี้

          อภิชาตบุตร ลูกที่สูงกว่าตระกูล คือ พ่อแม่ไม่มีศีล ๕ แต่ลูกเป็นผู้มีศีล ๕ แต่ลูกเป็นผู้มีศีล ๕
          อนุชาตบุตร ลูกที่เสมอกับตระกูล คือ พ่อแม่มีศีล ๕ และลูกก็เป็นผู้มีศีล ๕ ด้วย
          อวชาตบุตร ลูกที่ต่ำกว่าตระกูล คือ พ่อแม่มีศีล ๕ แต่ลูกไม่มีศีล ๕

          ในขัตติยสูตร (๑๕/๑๐) พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า
          "ลูกคนใดเป็นลูกที่เชื่อฟัง ลูกคนนั้น นับว่าเป็นลูกที่ประเสริฐสุดกว่าลูกทั้งปวง"

          โดยนัยพระพุทธวจนะ ที่ได้ยกมากล่าวไว้นี้ เป็นเครื่องแสดงว่า พระพุทธองค์ทรงชี้ให้ดูว่าลูกจะดีหรือชั่ว ที่มีศีล ๕ และการเชื่อฟังพ่อแม่และการกระทำของพ่อแม่ในยุคปัจจุบันเพียงไร พ่อแม่ในยุคปัจจุบันมักมุ่งแต่จุหาเงินไว้ให้ลูก หวังให้ลูกเรียนเก่ง เรียนสูง ทำงานเบา ทำงานมีเกียรติ ได้เงินเดือนสูง ร่ำรวย

          ส่วนมากจะไม่สนใจคุณธรรมในตัวของลูกเลย พ่อแม่ส่วนมากในยุคนี้ ต้องผิดหวังน้ำตาตก เป็นโรคประสาท ทั้งที่มีเงินทองเหลือล้น ต้องกับพุทธภาษิต (นันทิสูตร ๑๕/๙) ว่า
          "คนมีลูก ย่อมเสียใจเพราะลูกคนมีวัว ก็ย่อมเสียใจเพราะวัวเหมือนกัน"
เพราะลูกในยุคปัจจุบัน พากันเป็น "ลูกบังเกิดเกล้า" กันเป็นส่วนมากเสียแล้ว ต้นเหตุ ก็เกิดจาการ "เลี้ยงลูกไม่ถูกวิธี" นั่นเอง คือมักตามใจลูกในทางผิดๆ เช่น ถนอมลูก ไม่ยอมให้ลูกทำอะไรเลย มีพ่อแม่หรือมีคนรับให้ทำให้เสร็จ ลูกอยากได้อะไรก็ให้ อยากได้เงินเท่าไหร่ก็ตามใจ ประเคนให้ ตามใจลูกทุกสิ่ง ผลหรือ ? ลูกก็เลยกลายเป็นลูกเทวดา ปรารถนาอะไรก็ได้ดั่งใจ กลายเป็นคนเห็นแก่ตัวจัด ใช้เงินเก่งไม่เห็นคุณค่า ของเงินทำอะไรเองก็ไม่เป็น ตีนไม่ติดดิน เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ

          ทางที่ถูกนั้น ควรมุ่งปลูกฝังคุณธรรม หรือศีลธรรมลงในจิตใจขอลูกที่มีกตัญญูกตเวทีต่อพ่อแม่ เมื่อระลึกถึงเขา

          แต่ถ้าลูกขาดคุณธรรมแล้ว ถึงจะมีความรู้วิชาชีพสูงก็เอาตัวไม่รอด แม้พ่อแม่จะมีฐานะร่ำรวย ลูกมันก็จะผลาญหมด แต่ถ้าลูกเป็นคนดีถึงฐานะจะยากจน ลูกก็สร้างขึ้นมาได้

          ถ้าไม่รับปลูกฝังศีลธรรม ลงในตัวของลูกไว้แต่เล็ก ๆ แล้วโอกาสที่ลูกจะเป็นเด็กดีค่อนข้างยาก และจะยิ่งยากมากขึ้นทุกวัน ทั้งนี้เพราะวิทยาการทางวัตถุ ยิ่งเจริญมากขึ้นเท่าไรน จิตใจของคนในโลกก็ยิ่งต่ำลงเห็นแก่ตัวมากขึ้น โหดร้ายมากขึ้น

          ต้นเหตุที่สำคัญคือ ทุกคนต้องแข่งขันกันมีวัตถุให้มากขึ้น เพื่อส่งเสริมความสุขทางเนื้อหนัง การเอารัดเอาเปรียบกัน ก็ย่อมจะเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว

          พ่อแม่ก็ต้องออกไปหาเงินเพื่อให้พอใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตามจำนวนพลเมือง โอกาสที่จะเลี้ยงลูกเองแบบเก่าจึงไม่มี สายสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับลูก ก็ยิ่งจะห่างไกลออกไปทุกที

          ด้วยเหตุนี้ เพื่อนจึงมีความสำคัญ ที่ลุกมักจะให้ความเชื่อถือมากกว่าพ่อแม่ เพราะพ่อแม่ที่ดีส่วนมาก มักจะไม่ตามใจลูกในทางที่ผิดเมื่อเห็นลูกทำผิด ก็มักจะตักเตือนหรือดุด่า จนถึงเฆี่ยนตี เป็นต้น

          ตรงกันข้ามกับเพื่อน มีแต่คำหวาน ตามอกตามใจแม้ในสิ่งที่ผิดๆ ลูกจึงมักจะรักเพื่อนมากกว่าพ่อแม่ คนเราเมื่อรักกันแล้วย่อมจะถนอมน้ำใจกัน ก็มักจะพยายามทำอะไร ๆ ตามที่เพื่อนชอบหรือขอร้อง

          จุดมืดหรือจุดสว่างของลูก จึงอยู่ตรงนี้เอง ถ้าคบกับเพื่อนที่ดีก็เป็นบุญตัว ถ้าคบเพื่อชั่ว ก็พาตัวพินาศเสียอนาคต กว่าจะรู้สึกตัวก็หมดโอกาสเสียแล้ว

          สาเหตุอีกประการหนึ่ง ที่ลูก ๆ ไม่ให้ความเคารพหรือเชื่อฟังพ่อแม่ก็เกี่ยวกับการประพฤติตัวของพ่อแม่เอง เช่น
          -ไม่ให้ความอบอุ่นกับลูก ถือว่ามีเงินให้ใช้ มีข้าวให้กินอิ่มท้องก็เป็นบุญแล้ว ลืมไปว่าคนเรา มีทั้งกายและใจ การให้อาหารก็ควรให้ให้ครบ คือให้ทั้งอาหารกายและอาหารใจ
          -ทำตัวอย่างที่ไม่ดี เช่น ติดเหล้า ติดการพนัน ติดผู้หญิง (เมียเก็บ-เมียเช่า) โกง หากินทางผิดกฎหมาย หรือเอาเปรียบสังคมฯ
          -ถืออารมณ์มากกว่าเหตุผล เมื่อลูกทำผิดเล็กน้อย ก็ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่โตคอขาดบาดตายใช้อารมณ์ ใช้อำนาจเข้าข่ม ก็จะเอาชนะได้ก็แต่กาย แต่หาได้ชนะจิตใจลูกไม่
          - รักลูกตามอารมณ์ คือ ต้องการให้ลูกทำอย่างนั้น ทำอย่างนี้ เช่น ต้องเรียนวิชานั้น ต้องทำงานอย่างนี้ ทำเหมือนลูกไม่มีหัวใจ เหตุเพียงเพราะพ่อหรือแม่ชอบ เป็นต้น
          - จู้จี้ขี้บ่น ทุกคนไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ ย่อมไม่ชอบคนจู้จี้ขี้บ่นด้วยกันทั้งนั้น คนฟังมักรำคาญ ส่วนคนบ่นมักไม่รำคาญ พ่อแม่ที่อยากให้ลูกๆ อยู่ใกล้ชิด ควรจะระวังนี้ไว้ด้วย
          - เลี้ยงลูกให้ขี้เกียจ คือ กลัวลูกจะเหนื่อยจะลำบาก เลยทำอะไร ๆ แทนเสียหมด ลูกจะทำก็กลัวเสียของ ลูกก็เลยทำอะไรไม่เป็นบางคนโตจนเป็นหนุ่มเป็นสาวแล้ว ซักผ้าของตัวเองก็ไม่เป็น หุงข้าวก็ไม่สุก..ก็เลยกลายเป็น "เลี้ยงลูกไม่ให้โต" ไป

          การหาเงินหรือมีเงิน เป็นของดีควรทำ แต่เงินก็เป็นของกลางเป็นสมบัติกลาง ถ้าคนดีก็ใช้เงินให้เป็นคุณ ถ้าคนชั่วก็จะใช้เงินให้เป็นโทษ
          ดังนั้น พ่อแม่ที่ดี จึงไม่ควรจะงมโข่ง ก้มหน้าหาแต่เงินลูกเดียว จนลืมปลูกฝังคุณธรรมลงในจิตใจลูก เพราะถ้าลูกมันชั่วแล้วเงินร้อยล้านพันล้าน มันก็ผลาญหมดในไม่ช้า แถมพาตัวเขาให้พินาศด้วย

การเลี้ยงลูกที่ดี ควรใช้หลัก ๔ ขั้น คือ แม่น้ำ ลูกยอ กอไผ่ ใส่เตา
          - แม่น้ำ คือ เอาน้ำเย็นเข้าปลอบ พูดจาด้วยภาษาดอกไม้ เชื่อเถอะ ! จิตใจของคนเรามิได้สร้างด้วยหินดอก เมื่อลูกรู้ว่ายังมีคนรักและเมตตาเขาด้วยความจริงใจ ด้วยเหตุผลและความเป็นจริง ไม่ใช้อารมณ์ เขาก็ย่อมจะเชื่อฟังบ้าง
          - ลูกยอ คือ ใช้วิธียกย่องชมเชย ในสิ่งที่ลูกมีและทำได้ ให้กำลังใจในการทำความดี ถ้าถลำทำชั่วก็ขอให้กลับตัวใหม่ อย่าประณามกันรุนแรง คนเราทำผิดกันได้ เมื่อผิดแล้วก็ต้องยอมรับและต้องกลับตัวจึงจะถือว่ามีเชื้อของบัณฑิต
          - กอไผ่ คือ การใช้เรียวไผ่หวดก้น เมื่อใช้ไม้นวมมาสองขั้นไม่สำเร็จ ก็จะต้องใช้ไม่แข็งกันบ้าง แต่ระวัง ต้องตีด้วยเหตุผลและความเป็นจริง อย่าได้เผลอใส่อารมณ์ (โกรธ) บวกเข้าไปเป็นอันขาด ความหวังดีจะกลายเป็นร้ายไปทันที
          - ใส่เตา คือ การเผาหรือฌาปนกิจ เมื่อ ๓ ขั้นไม่สำเร็จ ก็ใช้ไม้สุดท้าย คือคิดว่า "เขาได้ตายจากเราไปแล้ว" ก็ควรจะเผาเขาไปเลยคือต้อง "ทำใจ" ให้ได้ถ้าเขาเป็นลูกล้างลูกผลาญ ก็ขอให้จบกันเท่านี้ เขาจะขึ้นช้างลงม้าเข้าคุก ก็ปล่อยให้เป็นไปตามกรรมของเขาเถิด

          การทำใจในข้อนี้ ถ้าพ่อแม่มีธรรมะในใจต่ำ ก็จะทำไม่ได้ เพราะไม่อาจจะตัดใจได้ แต่ถ้าศึกษาธรรมะอย่างถูกวิธีแล้ว จะทำได้ง่ายมากนั่นคือ
          ระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่า ทุกคนมีกรรมเป็นของตนเอง จะฝืนกฎแห่งกรรมไปหาได้ไม่ แม้แต่พระพุทธเจ้าเอง ท่านก็ทรงอยู่ภายใต้กฏแห่งกรรมเช่นกัน การที่เรามีลูกดี ระลึกถึงแล้วมีแต่ความชื่นใจและสบายใจก็เป็นเพราะผลของกุศลกรรม ที่เราทำไว้ ได้มาสนองเรา เกิดจากผลของกรรมดี
          การที่เรามีลูกไม่ดี เกิดมาล้างพลาญ ก่อแต่ความทุกข์ และนำแต่ความเดือนร้อนมาให้ไม่รุ้จักสิ้นสุดนั้นก็เป็นเพราะ ผลของอกุศลกรรมของเราเองทำไว้ และกำลังให้ผลเราอยู่
          ทางที่ถูก เราไม่ควรจะตีโพยตีพาย ซึ่งจะไม่มีอะไรดีขึ้นเลย นอกจากจะเป็นโรคประสาทหรือเป็นบ้า ควรจะยอมรับความจริง แล้วปฏิบัติไปตามที่ถูกที่ควร ทำไม่ได้ก็วางอุเบกขา ถือว่า "เป็นกรรมของสัตว์"
          อย่าไปคิดเปรียบเทียบว่า ลูกคนอื่นเขาไม่เหมือนลูกเรา ก็มัน "กรรมใครกรรมมัน" ต่างคนต่างทำ มันจะเหมือนกัน ได้อย่างไร ?ถ้าเลือกได้ทุกคนก็เลือกเกิดเป็นราชา หรือเศรษฐีกันหมด
          ควรจะคิดในแง่ดี และในแง่ของความเป็นจริงว่า เราได้ชดใช้กรรมเก่าเสียแต่ในบัดนี้ก็เป็นการดีแล้ว จะได้หมดเวรหมดกรรมกันไปเสียที ชาติหน้าจะได้ไม่ต้องไปใช้เขาอีก คิดได้อย่างนี้ เราก็สบายใจ
          เท่าที่เห็นมา มีพ่อแม่เป็นอันมาก เลี้ยงลูกไม่ถูกวิธี หรือไม่อาจจะเลี้ยงได้ เพราะมีปู่ย่า ตายาย หรือญาติคอยให้ท้ายในทางที่ผิด ๆ ลูกก็เลยเสียนิสัย ตามใจตัวเองและเห็นแก่ตัวจัด จนไม่อาจจะแก้ไขได้ ก็เป็นกรรมของลูกด้วย

ทางแก้

           ๑. ความกตัญญูและกตเวที เป็นพื้นฐานของคนดี ควรอบรมหรือปลูกฝังก่อนสิ่งอื่นใดทั้งหมด ติดตามด้วยความขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์อดทน เสียสละ และมีระเบียบวินัย เป็นต้น
          ๒. ควรเลี้ยงลูกด้วยเหตุผล อย่าเลี้ยงลูกด้วยอารมณ์ ตามใจในสิ่งที่ถูก ขัดใจในสิ่งที่ผิด ยกย่องเมื่อเขาทำดี ตำหนิหรือลงโทษ เมื่อเขาทำผิด
          ๓. หัดให้ลูกเป็นคนรับผิดชอบตัวเอง เช่น หน้าที่ การงาน การเงิน เป็นต้น หัดให้เขาใช้ความคิดเป็นของตัวเอง ไม่ควรชี้แนะไปเสียทุกสิ่ง
          ๔. ควร "เลี้ยงลูกให้โต" อย่าพยายาม "เลี้ยงลูกให้เตี้ย" เพราะเราไม่อาจตามเลี้ยงเขาได้จนตลอดชั่วชีวิต
          ๕. คำพูดที่ว่า "จงทำตามฉันสอน แต่อย่าทำตามฉันทำ" ไม่ควรนำมาใช้กับลูก นั่นคือ พ่อแม่ควรเป็นแบบพิมพ์ที่ดีและถูกต้องถ้าจำเป็นต้องทำชั่ว ก็อย่าให้ลูกรู้หรือเห็น เด็กจะเสียกำลังใจในการทำ ความดี และจะถือเป็นข้ออ้างในการทำความชั่ว แม้แต่เรื่องการดื่มสุราหรือการสูบบุหรี่ เป็นต้น
          ๖. อย่าห้าม ลูกไม่ให้ทำอะไร ถ้าสิ่งนั้นไม่ผิด หรือไม่เป็นอันตรายเพราะเด็กย่อมอยากรู้และอยากเห็นเป็นทุนอยู่แล้ว ควรให้เขาได้ช่วยงานเรา ตามที่เขาชอบบ้าง
          ๗. ควรรักลูกด้วยพรหมวิหาร คือ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา ให้ครบทั้ง ๔ ข้อ อย่าแสดงออกให้ลูก ๆ เห็นว่า พ่อแม่รักลูกไม่เท่ากัน (อคติ)
          ๘. ควรหาโอกาสพาลูก ๆ ไปวัด ฟังเทศน์ ฟังธรรม ให้ทาน รักษา ศีล เจริญภาวนา ตามสมควร โดยเฉพาะก่อนนอน ควรหัดให้ลูก ๆ ไหว้พระสวดมนต์ แผ่เมตตา และกราบระลึกถึงผู้มีพระคุณ ๕ ครั้ง แล้วจึงให้นอนได้
          ๙. อย่าลืมว่า เรามีหน้าที่เลี้ยงลูกให้ดีเท่านั้น ถ้าเขาไม่รักดีก็เป็นกรรมของเขาเอง ทุกคนไม่อาจจะฝืนกฎแห่งกรรมของตนเองได้


ที่มา : หนังสือคู่มือดับทุกข์
  บอกบุญ ~ ประชาสัมพันธ์