พระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้า พระไตรปิฎก หัวข้อธรรม การปฏิบัติธรรม ศาสนพิธี วันสำคัญทางศาสนา ทำเนียบวัดไทย พระพุทธศาสนาในประเทศไทย
 
หน้าแรก คลังหนังสือธรรมะ คู่มือดับทุกข์
คู่มือดับทุกข์


 วิธีดับทุกข์ เพราะ...บุญ

          เมื่อเห็นหัวเรื่องนี้ หลายท่านคงจะเกิดความสงสัยขึ้นมาตะหงิด ๆ ละสิว่า มีด้วยหรือทุกข์เพราะบุญ ? ขอตอบว่า มี และมีอยู่ทั่วไปเสียด้วย

          เอ๊ะ ....ก็ไหนว่าบุญเป็นชื่อของความดี หรือความสุข ไฉนการทำบุญจึงต้องมีความทุกข์ด้วบเล่า ? เอ...ชักจะเขียนเลอะเทอะเสียแล้ว กระมัง ? ไม่หรอก ! ทั้งนี้และทั้งนั้น ก็เกิดจาการ เราทำไม่ถูกบุญ และไม่ถึงบุญด้วยมันจึงเกิดความทุกข์ขึ้น เช่น

          - อยากสร้างพระพุทธรูป สร้างศาลา สร้างกุฏิ สร้างพระไตรปิฎก สร้าง..แต่ท่านสมภารไม่ต้องการ จะเป็นเพราะมีมากแล้วหรือเหตุใดก็ตาม
          - อยากไปทำบุญวัดนี้ แต่ไม่ชอบหน้าท่านสมภาร หรือพระลูกวัดบางรูป จะไปทำวัดอื่นก็ไม่มี หรือมีแต่อยู่ไกล
          - อยากให้วัดข้างบ้านมีการศึกษาและปฏิบัติธรรมและนำมาสอนชาวบ้านบ้าง แต่ก็ไม่มีตามต้องการ
          - อยากให้พระท่านต่อชะตา ต่ออายุ เป่าหัวให้โชกดี ผูกดวงให้ท่านก็ไม่ทำให้
          - อยากไปวัด แต่ก็เบื่อการรีดไถ การก่อสร้าง หรือการเรี่ยไรบอกบุญทั้งปีของวัด
          - อยากทำบุญให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ก็ทำไม่ได้ เพราะยากจน ต้องไปทำงานทุกวัน อยาก ฯลฯ

          ความอยากอะไรก็ตาม ถ้าไม่ได้สนองความอยาก มันก็เป็นความทุกข์ชนิดหนึ่ง ท่าน พ.อ. ปิ่น มุทุกันต์ ท่านว่าเป็น "ความทุกข์ของนักบุญ" คือทุกข์เพราะอยากทำดี แล้วไม่ได้ทำ หรือทำไม่ได้
          ทั้งนี้และทั้งนั้น ก็เกิดจากความไม่เข้าใจ ในเรื่องของการทำบุญนั่นเอง ถ้ารู้จัก "ตัวบุญ" อย่างถูกต้องและแท้จริงแล้ว การทำบุญก็จะกลายเป็นเรื่องง่ายดายยิ่งกว่าการพลิกฝ่ามือคว่ำหรือหงาย ไม่ต้องใช้เงินและใช้เวลา หรือแรงงานเสียด้วยสิ

ในปุญญกิริยาวัตถุสูตร (๒๒/๒๑๕) พระพุทธเจ้าได้ตรัสเรื่องการทำบุญไว้ ๓ ประการคือ
          ๑. บุญกิริยาวัตถุ สำเร็จด้วยทาน
          ๒. บุญกิริยาวัตถุ สำเร็จด้วยศีล
          ๓. บุญกิริยาวัตถุ สำเร็จด้วยภาวนา

ส่วนในอรรถกถา ท่านได้ขยาออกไปอีก ๗ ประการ คือ
          ๔. อปจายนมัย (ทำบุญด้วยการ ประพฤติอ่อนน้อม)
          ๕. เวยยาวัจจมัย (ทำบุญด้วยการ ขวนขวายรับใช้)
          ๖. ปัตติทานมัย (ทำบุญด้วยการ ให้ความดีแก่ผู้อื่น)
          ๗. ปัตตานุโมทนามัย (ทำบุญด้วยการ ยินดีบุญของผู้อื่น)
          ๘. ธัมมัสสวนมัย (ทำบุญด้วยการ ฟัง-อ่านธรรมะ)
          ๙. ธัมมัสเทสนามัย (ทำบุญด้วยการ สั่งสอนธรรมะ)
          ๑๐. ทิฏฐุชุกัมม์ (ทำบุญด้วยการ ทำความเห็นให้ตรง)
หลักการทำความดีในพุทธศาสนา ทั้งหมดมีอยู่ ๓ พวกใหญ่ๆ คือทาน ศีล และภาวะนา แม้จะขยายออกไปอีก ๗ ข้อ ก็ไม่มีทาน คือ ไม่ต้องใช้วัตถุสิ่งของหรือเงินเลย

          ผู้ที่อยากทำโน่นทำนี่ แล้วไม่ได้ทำนั้น ส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องของทาน ถ้าเป้นการทำบุญด้วยศีล ด้วยภาวนาและต่อไปอีก ๗ ข้อแล้ว ก็เกือบไม่ต้องใช้เงินเลย เช่น

          การรักษาศีล ทำที่ไหนก็ได้ ทำวันไหนก็ได้ รักษาศีล ๘ ไม่ได้ ก็เอาแต่ศีล ๕ ไปก่อน ก็ดีมากแล้วสำหรับชาวบ้าน ไปรับกับพระที่วัดไม่ได้ ก็ตั้งใจเจตนางดเว้นเอาเอง หรือรับทางวิทยุอยุ่กับบ้านก็ได้
          - การเจริญภาวนา ด้วยการทำสมาธิ- วิปัสสนา ศึกษาวิธีการและความหมายให้เข้าใจ แล้วจะทำที่ไหนก็ได้ จะนั่งทำ เดินทำยืนทำหรือนอนทำ
          - อีก ๗ ข้อต่อไป ไม่ไปวัดไม่ต้องหยุดงานก็ทำได้ ไม่มีอะไรขัดข้อง ถ้าเราตั้งในจริงที่จะทำ

          ชาวพุทธส่วนมากมักจะติดอยู่แต่ทานเห็นคนอื่นเขาทำกันโครม ๆ ก็อยากจะทำตามเขาบ้าง แต่วัตถุมันไม่อำนวยก็เลยมีความทุกข์ใจ น้อยใจในวาสนาของตน

          การทำบุญหรือทำความดี ในทางพุทธศาสนานั้น จะต้องไม่ทำให้ตนเองและผู้อื่นเดือดร้อน จึงจะถือว่าเป็นบุญด้วยการรักษาศีล และเจริญภาวนาก็ได้ แถมเป็นบุญที่สูงกว่า และประเสริฐกว่า ชนิดเทียบกันไม่ได้เลยเพราะสามารถตัดเวรภัย ทำให้หมดภพชาติ และดับทุกข์สิ้นเชิงได้ด้วย

          ดังนั้น ชาวพุทธที่ดี จึงไม่ควรที่จะติดอยู่ในขั้นใดขั้นหนึ่ง ไม่ว่า ใน ๓ ขั้นหรืออีก ๗ ขั้นก็ตาม การอ้างว่าไม่มีเงินไม่มีเวลา แล้วไม่ไปทำบุญ เป็นการอ้างของคนปัญญานิ่ม ไม่รู้จักคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริง หรืออย่างถูกต้อง

           แต่ว่าก็ว่าเถอะ คนที่ชอบอ้างที่ว่านี้ส่วนมากก็เป็นคนไม่ชอบไปวัดไปว่า ไม่สนใจธรรมะธัมโมอยู่แล้ว แต่ยังเกรงคนอื่นเขาจะไม่มีศาสนาก็เลยยกเอางานและเงิน มาเป็นกำแพงกั้นแบบ "ขายผ้าเอาหน้ารอด"ไว้ก่อน

ทางแก้

          ๑. หลักใหญ่ของคำสอนทางพุทธศาสนามีอยู่ ๓ ขั้น คือ ทาน ศีล ภาวนา ควรทำให้ครบทั้ง ๓ ขั้น ถ้าขั้นไหนทำไม่ได้ทำไม่สะดวกก็ควรจะเลื่อนไปทำในขั้นต่อไป ไม่ควรย่ำเท้าอยู่กับที่ เพราะจะไม่ได้พบสิ่งสูงสุดในพุทธศาสนา
          ๒. พุทธศาสนาให้อิสระเสรีในการทำความดี ไม่มีขีดขั้น พอใจทำก็จงทำ ไม่พอใจหรือไม่นับถือ ก็ไม่ต้องทำ ไม่ตอ้งนับถืออย่าเอาข้ออ้างมาเป็นฉาก
          ๓. การทำความดีหรอืทำบุญ ควรทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ อย่าเห็นแก่หน้าหรือค่านิยม จะได้บุญแรง
          ๔. ไม่ว่าจะอยู่บ้านหรืออยู่ที่ทำงาน ถ้ารู้จักตัวบุญแล้ว จะทำบุญได้ทุกที่ทุกเวลา
          ๕. บุญยอดบุญ คือ การทำให้จิตใจสงมและเย็น ด้วยการเจริญสติสมาธิและวิปัสสนา


ที่มา : หนังสือคู่มือดับทุกข์
  บอกบุญ ~ ประชาสัมพันธ์