อุบาสกสำคัญในสมัยพุทธกาล

 DhammathaiTeam  

หมวดที่ ๓ - พุทธสาวก และ พุทธบริษัท

"อุบาสกสำคัญในสมัยพุทธกาล"

คำว่า "อุบาสก" หมายถึงชายผู้นั่งใกล้พระรัตนตรัย คนใกล้ชิดพระศาสนา,คฤหัสถ์ชายที่แสดงตนเป็นคนนับถือพระพุทธศาสนา โดยประกาศถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ

อุบาสกสองผู้อัครอุปัฏฐาก (ผู้อุปถัมภ์บำรุงพระภิกษุสามเณร) คือ จิตตคฤหบดี และหัตถกอุบาสกชาวเมืองอาฬวี

ปฐมอุบาสิกา หรืออุบาสกคนแรกในพระพุทธศาสนา หมายถึง ตปุสสะ กับภัลลิกะ ซึ่งถึงสรณะ ๒ คือ พระพุทธเจ้าและพระธรรม ทั้งสองเป็นพ่อค้าที่นำกองเกวียนเดินทางมาจากทุกกลชนบท มาถึงแขวงเมืองอุรุเวลาเสนานิคม พบพระพุทธเจ้าขณะประทับอยู่ ณ ภายใต้ต้นไม้ราชาตนะ ใกล้แม่น้ำเนรัญชรา ในกาลนั้นเป็นสัปดาห์ที่ ๗ ที่พระพุทธเจ้าประทับเสวยวิมุตติสุข (สุขเกิดแต่ความหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะและปวงทุกข์) ภายหลังจากตรัสรู้ ตปุสสะ กับภัลลิกะเข้ามาถวายสัตตุผงสัตตุก้อน (ข้าวตูเสบียงเดินทาง) เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสร็จการเสวยแล้ว พ่อค้าทั้งสองได้กราบทุลแสดงตนเป็นอุบาสกด้วยความเลื่อมใสขอถึงพระผู้มีภาคเจ้ากับพระธรรม ว่าเป็นสรณะตลอดชีวิต ด้วยเวลานั้นยังไม่มีพระสงฆ์ปฐม อุบาสกทั้งสองนี้จึงเป็นอุบาสกประเภท "เทวาจิก" คือเปล่งวาจาขอถึงพระพุทธเจ้า และพระธรรมทั้งสองเป็นที่พึ่งที่ระลึก

ชีวกโกมารภัจจ์ เป็นบุตรของหญิงงามเมือง ในเมืองราชคฤห์แคว้นมคธ ครั้นคลอดแล้วถูกนำไปทิ้งที่กองขยะ เจ้าชายอภัยโอรสของพระเจ้าพิมพิสารมาพบเข้าจึงเก็บไปเลี้ยงไว้ในวัง ครั้นชีวกเจริญวัยขึ้นพอจะทราบว่าตนเป็นเด็กกำพร้า ก็คิดแสวหาศิลปวิทยาไว้เลี้ยงตัวจึงเดินทางไปศึกษาวิชาแพทย์กับอาจารย์แพทย์ทิศาปาโมกข์ ที่เมืองตักศิลาศึกษาอยู่ ๗ ปี ครั้นสำเร็จจึงเดินทางกลับยังพระนครราชคฤห์
เมื่อเสบียงหมดในระหว่างทาง ได้แวะหาเสบียงที่เมืองสาเกตโดยไปรักษาภรรยาเศรษฐีหายจากโรคปวดศีรษะมา ๗ ปี ไม่มีใครรักษาหาย ภรรยาเศรษฐีหายจากโรค ให้รางวัลหมอชีวกมากมาย ครั้นถึงพระนครราชคฤห์ ได้นำเงินและรางวัลทั้งหมดไปถวายเจ้าชายอภัยเป็นค่าปฏิการะคุณที่ได้ทรงเลี้ยงตนมา เจ้าชายอภัยโปรดให้หมอชีวกเก็บรางวัลไว้เป็นของตนเอง และโปรดให้หมอชีวกสร้างบ้านอยู่ในวังของพระองค์
ต่อมาไม่นานเจ้าชายอภัยนำหมอชีวกไปรักษาโรคริดสีดวงงอกแก่พระเจ้าพิมพิสาร เมื่อพระองค์ทรงหายประชวรแล้ว ทรงพระราชทานเครื่องประดับของสตรีชาววัง ๕๐๐ คนให้เป็นรางวัล หมอชีวกไม่รับโดยทูลว่า ขอให้ทรงถือว่าเป็นหน้าที่ของตนเท่านั้น พระเจ้าพิมพิสารจึงโปรดให้หมอชีวกเป็นแพทย์ประจำพระองค์ประจำฝ่ายในทั้งหมด และประจำพระภิกษุสงฆ์อันมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข
หมอชีวกได้รักษาโรครายสำคัญหลายครั้งเช่น ผ่าตัดรักษาโรคในสมองของเศรษฐีเมืองราชคฤห์ ผ่าตัดเนื้องอกในสำใส้ของบุตรเศรษฐีเมืองพาราณสี รักษาโรคผอมเหลืองแด่พระเจ้าจัณฑปัชโชตแห่งกรุงอุชเชนี และถวายการรักษาแด่พระพุทธเจ้า ในคราวที่พระบาทห้อโลหิตจากเศษหินจากก้อนศิลาที่พระเทวทัตกลิ้งลงมาจากภูเขาเพื่อหมายปลงพระชนม์ชีพ
หมอชีวกได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน และด้วยศรัทธาในพระพุทธเจ้าปรารถนาจะไปเฝ้าวันละ 2-3 ครั้ง เห็นว่าพระเวฬุวันวิหารที่พระพุทธองค์ประทับอยู่ไกลเกินไป จึงสร้างวัดถวายในสวนมะม่วงของตน เรียกกันว่า ชีวกัมพวัน ครั้นเมื่อพระเจ้าอชาตศัตรูเริ่มน้อมพระทัยมาทางศาสนา หมอชีวกก็เป็นผู้แนะนำให้เสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้า
ด้วยเหตุที่หมอชีวกเป็นแพทย์ประจำคณะสงฆ์และเป็นผู้มีศรัทธาเอาใจใส่เกื้อกูลคณะสงฆ์มาก จึงเป็นเหตุให้มีคนมาบวชเพื่ออาศัยวัดเป็นที่รักษาตัวจำนวนมาก จนหมอชีวกต้องทูลเสนอพระพุทธเจ้าให้ทรงบัญญัติข้อห้ามมิให้รับบวชคนเจ็บป่วยด้วยโรคบางชนิด นอกจากนั้นหมอชีวกได้กราบทูลเสนอให้ทรงอนุญาตที่จงกรมและเรือนไฟ เพื่อเป็นที่บริหารกายช่วยรักษาสุขภาพ ของภิกษุทั้งหลาย หมอชีวกได้รับพระดำรัสยกย่องเป็นเอตทัคคะในบรรดาอุบาสผู้เลื่อมใสในบุคคล

บิดาพระยสะ ภายหลังจากพระปัจจวัคคีย์สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ๕ องค์แรก ในพระพุทธศาสนา แล้ว พระพุทธเจ้าได้ตรัสเทศนายสมาณพบุตรเศรษฐีกรุงพาราณสีได้ดวงตาเห็นธรรม ครั้นบิดาของสกุลบุตร ผู้เป็นใหญ่ในหมู่ชาวบ้านเสนานิคมตำบลอุรุเวลามาตามหาลูกชายพบพระผู้มีพระภาคเจ้าที่ประทับ พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเทศนา โปรดท่านเศรษฐีบิดาได้ดวงตาเห็นธรรมแสดงตนเป็นอุบาสก สมาณพซึ่งนั่งอยู่ในที่นั้นได้ฟังเทศนา ซ้ำเป็นครั้งที่สองก็ได้บรรลุอรหัตตผล ฝ่ายเศรษฐีบิดาก็กราบทูลอาราธนาพระบรมศาสดาให้ไปรับอาหารบิณฑบาตที่เรือนของตน แล้วถวายบังคมลากลับ เมือเศรษฐีบิดากลับแล้ว สมาณพทูลขออุปสมบท นับเป็นภิกษุสาวกและพระอรหันต์องค์ที่ ๖ นอกจากนั้นยังเป็นพระอรหันต์องค์แรกที่อยู่ในเพศคฤหัสถ์ คือยังมิทันได้บวชก็บรรลุถึงความเป็นพระอรหันต์
ในเวลาเช้าวันนั้น พระบรมศาสดาก็มีพระยสะเป็นพระตามเสด็จ ๑ รูป เสด็จไปยังเรือนท่านเศรษฐีตามคำอาราธนา ประทับนั่งยังอาสนะมารดาของยสะคือ นางสุชาดาผู้ถวายข้าวปายาส (ข้าวสุกที่หุงด้วยนมโค) ถวายแก่พระมหาบุรุษในเวลาเช้าของวันที่จะตรัสรู้ และภรรยาเก่าของพระยสะเข้าเฝ้า พระบรมศาสดาทรงแสดงธรรมให้สตรีทั้งสองนั้นได้ธรรมจักษุ เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ปฎิญาณตนเป็นอะบาสิกาขอถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต มารดาและภรรยาเก่าของพระยสะได้เป็นอุบาสิกาสองคนแรกในพระพุทธศาสนาก่อนกว่าอุบาสิกกาทั้งหลายในโลกนี้
ส่วนท่านเศรษฐีบิดาพระยสะได้เป็นอุบาสสกที่ถึงสรณะครบ ๓ คนแรก คือถึงพระรัตนตรัยอันมี พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

จิตตคฤหบดี เป็นผู้มีศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา ท่านผู้นี้เคยถูกภิกษุชื่อสุธรรมด่าว่าเป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติปฏิสาราณียกรรม คือการลงโทษภิกษุผู้ด่าว่าคฤหัสถ์ที่ไม่มีความผิดด้วยการให้ไปขอขมา จิตตคฤหบดีเป็นหนึ่งในสอง อุบาสกผู้เป็นอัครอุปัฎฐากจิตตคฤหบดี ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในบรรดาอุบาสกธรรมกถึก (เอตทัคคะ = เป็นผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ยอดเยี่ยมในทางใดทางหนึ่งธรรมกถึก = การแสดงธรรม)

นกุลบิดา เป็นผู้มั่งคั่งชาวเมืองสุงสุมารคีรี ในแคว้นภัคคะ มีภรรยาชื่อ นกุลมารดา สมัยหนึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จมายังเมืองสุงสุมารคิรีประทับที่ป่าเภสกลาวัน ท่านคฤหบดีและภรรยาไปเผ้าพร้อมกับชาวเมืองคนอื่น ๆ พอได้เห็นครั้งแรก ทั้งสองสามีภรรยาก็เกิดความรู้สึกสนิทหมายใจเหมือนว่าพระพุทธเจ้าเป็นบุตรของตน ได้เข้าไปถึงพระองค์และแสดงความรู้สึกนั้น พระพุทธเจ้าเป็นบุตรของตน ได้เข้าไปถึงพระองค์และแสดงความรู้สึกนั้น พระพุทธเจ้าได้แสดงโปรดทั้งสองท่านได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน (ผู้ถึงกระแสที่จะนำไปสู่นิพพาน) ท่านทั้งสองเป็นคู่สามีภรรยาตัวอย่าง ผู้มีความจงรักภักดีต่อกันอย่างบริสุทธิ์และมั่นยั่งยืนตราบเท่าชรา ทั้งยังปรารถนาจะพบกันทั้งชาตินี้และชาติหน้า เคยทูลขอให้พระพุทธเจ้าแสดงหลักธรรมที่จะทำให้สามีภรรยาครองรักกันยั่งยืน ตลอดไปทั้งภพนี้และภพหน้า
เมื่อท่านนกุลบิดาเจ็บป่วยออดแอดร่างกายอ่อนแอ ไม่สบายด้วยโรคชรา ท่านได้ฟังพระธรรมเทศนาครั้งหนึ่ง ที่ท่านประทับใจมากคือ พระดำรัสที่แนะนำให้ทำใจว่า "ถึงแม้ร่างกายของเราจะป่วย แต่ใจของเราไม่ป่วย"
ท่านนกุลบิดาได้รับยกย่องจากพระพุทธเจ้าให้เป็นเอตทัคคะในบรรดาอุบาสกผู้สนิทสนมคุ้นเคย

พระเจ้าพิมพิสาร พระเจ้าแผ่นดินมคธครองราชสมบัติอยู่ที่พระนครราชคฤห์ พระเจ้าพิมพิสารทรงเสด็จพบพระบรมโพธิสัตว์เมื่ือครั้งออกบรรพชาใหม่ ๆ ยังไม่ได้ตรัสรู้ ทรงทูลขอปฏิญญากับพระมหาบุรุษว่า ถ้าพระองค์ได้บรรลุพระสัพพัญญุตญาณ (พระปรีชาญาณหยั่งรู้สิ่งทั้งปวง ทั้งที่เป็นอดีต ปัจจุบันและอนาคต) และขอได้ทรงพระกรุณาเสด็จมายังพระนครราชคฤห์ แสดงธรรมโปรด
พระเจ้าพิมพิสารทรงถวายพระราชอุทยานเวฬุวันแก่พระพุทธเจ้าเมื่อพระองค์เสด็จมาแสดงธรรมโปรดภายหลังจากทรงตรัสรู้แล้ว พระราชอุทยานเวฬุวันเป็นสังฆาราม นับเป็นวัดแรกในพระพุทธศาสนาพระบรมศาสดาได้เริ่มประดิษฐานพระศาสนา เป็นหลักฐานที่พระเวฬุวันวิหาร เกียรติศักดิ์เกียรติคุณแห่งพระพุทธศาสนาได้เริ่มแพร่ไปในชุมนุมชนตามตำบลน้อยใหญ่ตามลำดับ
พระเจ้าพิมพิสารพร้อมด้วยข้าราชบริพารจำนวนมากเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าที่สวนตาล "ลัฏฐิวัน" ทรงสดับพระธรรมเทศนา ได้ธรรมจักษุ ประกาศพระองค์เป็นอุบาสก
พระพุทธเจ้าประทับจำพรรษาที่เวฬุวันวิหาร ในพรรษาที่ ๒-๓-๔ พรรษาที่ ๑๗ และ ๑๙ รวม ๕ พรรษาด้วยกัน พระเจ้าพิมพิสารถูกพระราชโอรสนามว่าอชาตศัตรู ปลงพระชนม์

มหานามศากยะ เป็นเจ้าชายในศากยวงศ์ โอรสของพระเจ้าอมิโตทนศากยะ เป็นพี่ชายของพระอนุรุทธะ ภายหลังพระเจ้าสุทโธทนะพระราชบิดาของพระพุทธเจ้าสิ้นพระชนม์ มหานามศากยะได้เป็นราชาปกครองแค้นศากยะ และเป็นอุบาสกผู้มีศรัทธาแรงกล้า ได้รับยกย่อง เป็นเอตทัคคะในบรรดาผู้ถวายของประณีต

พระเจ้าอชาตศัตรู โอรสของพระเจ้าพิมพิสารกับพระนางโกศลเทวี กษัตริย์แคว้นมคธ ขณะพระนางทรงครรภ์ได้แพ้ท้องอยากเสวยโลหิตของพระเจ้าพิมพิสาร พระเจ้าพิมพิสารทรงทราบจึงเอาพระขรรค์แทงพระชานุ (เข่า)รองพระโลหิตให้พระนางเสวย โหรทำนายว่าพระโอรสที่อยู่ในครรภ์เกิดมาจะทำปิตุฆาต พระนางโกศลเทวีพยายามทำลายด้วยการให้แท้งเสียแต่ไม่สำเร็จ ในที่สุดคิดจะรีด แต่พระเจ้าพิมพิสารทรงห้ามไว้
เมื่อครบกำหนดประสูติเป็นกุมารจึงตั้งพระนามโอรสว่าอชาตสัตรู แปลว่า เป็นศัตรูตั้งแต่ยังไม่เกิด (บางท่านแปลใหม่ว่า มิได้เกิดมาเป็นศัตรู) ในที่สุดเจ้าชายอชาตศัตรูก็คบคิดกับพระเทวทัตฆ่าพระราชบิดาตามที่โหรทำนายไว้ และได้ขึ้นครองราชสมบัติแคว้นมคธ ณ กรุงราชคฤห์แต่ทรงสำนึกและกลับพระทัยได้ หันมาทรงอุปภัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนา และได้เป็นพุทธศาสนูปถัมภก ในการสังคายนาครั้งที่ ๑

อนาถบิณฑิก เป็นเศรษฐีอยู่ที่เมืองสาวัตถี ต่อมาได้นับถือพระพุทธศาสนา บรรลุโสดาปัตติผล เป็นผู้มีศรัทธาแรงกล้า สร้างพระเชตุวันมหาวิหารอันยิ่งใหญ่ ถวายแด่พระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์ที่เมืองสาวัตถี ซึ่งพระพุทธเจ้าประทับจำพรรษารวมทั้งหมดถึง ๑๙ พรรษา (สลับกับบุพพารามที่อยู่ใกล้ชิดติดกัน ณ เมืองสาวัตถี)
ท่านอนาถบิณฑิกนอกจากอุปภัภ์บำรุงพระภิกษุสงฆ์แล้วยังได้สงเคราะห์คนยากไร้อนาถาอย่างมากมายเป็นประจำ จึงได้ชื่อว่าอนาถบิณฑิก ซึ่งแปลว่า ผู้มีก้อนข้าวเพื่อคนอนาถา ท่านได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะในหมู่ทายกฝ่ายอุบาสก (ทายก = ผู้ให้)



ที่มา : หนังสือ ความรู้เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า โดย ภัทรวรรณ วันทนชัยสุข

 เปิดอ่านหน้านี้  8430   ครั้ง





จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย