พระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้า พระไตรปิฎก หัวข้อธรรม การปฏิบัติธรรม ศาสนพิธี วันสำคัญทางศาสนา ทำเนียบวัดไทย พระพุทธศาสนาในประเทศไทย
 
หน้าแรก พระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้า หมวดที่ ๔ พุทธสถาน ถ้ำและภูเขา

"ถ้ำและภูเขา"

ถ้ำและภูเขาต่าง ๆ ในชมพูทวีปในสมันพุทธกาล ที่มีความเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้า และถูกบันทึกลงในพระพุทธประวัติที่นำมาประมวลไว้ ณ ที่นี้มีดังนี้

          ๑. คาราโครัม ภูเขาคาราโครัมอยู่ทางตอนเหนือของชมพูทวีป มียอดเขาสูงเป็นอันดับ ๒ ของโลกชื่อกอดวินออสเตน สูง ๘,๔๗๕ เมตร (ปัจจุบันอยู่ในเขตรัฐแคชเมียร์ของประเทศอินเดีย)

          ๒. คิชฌกูฏ ภูเขาคิชฌกูฏเป็นหนึ่งใน ๕ ของบรรดาภูเขาที่ล้อมรอบพระนครราชคฤห์ แคว้นมคธ ซึ่งเรียกกันว่า เบญจครี ภูเขาคิชฌกูฏเป็นสถานที่สำคัญที่มีความหมายเกี่ยวข้องกับพระพุทธ และพระพุทธประวัติดังนี้
          พระคันธกุฏี คือเรือนที่ประทับของพระพุทธเจ้าบนภูเขาคิชฌกูฏ พระคันธกุฏีมีฝาเป็นไม้เนื้อหอม หลังคามุงด้วยใบไม้ใหญ่ ๆ พระพุทธเจ้าโปรดที่ประทับบนเขาคิชฌกูฏีมาก เพราะเป็นที่สงบมีอากาศเย็นสบาย พระองค์ทรงดำเนินขึ้นลงเขาเพื่อบิณฑบาตทุกวัน (คันธกุฏี แปลว่า กุฏีอบกลิ่นหอม เป็นชื่อเรียกพระกุฏีที่ประทับของพระพุทธเจ้า)
          กุฏิของพระอานนท์ ที่ซึ่งพระเทวทัตกลิ้งหินทับพระพุทธเจ้าด้วยหวังจะประหารพระบรมศาสดาในเวลาเสด็จขึ้นบนภูเขาคิชฌกูฏก็ไม่อาจทำอันตรายพระพุทธเจ้าได้ เป็นเพียงสะเก็ดศิลาได้กระเด็นไปกระทบพระบาทจนห้อพระโลหิต นับเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่พระพุทธเจ้าต้องประสบอันตรายถึงเสียพระโลหิตจากพระกาย
          ถ้ำสุกรขาตา ณ ที่นี้ พระสารีบุตรอัครสาวกเบื้องขวาได้สำเร็จพระอรหัต หลังจากอุปสมบทได้กึ่งเดือน พระสารีบุตรได้สดับพระธรรมเทศนาขณะนั่งถวายงานพัดอยู่ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ปริพาชก ชื่อ ฑีฆนขะผู้เป็นหลานของพระสารีบุตร           ทีฆนขะได้ดวงตาเห็นธรรม แสดงตนเป็นอุบาสกในพุทธศาสนา
          ที่ประทับของพระเจ้าพิมพิสาร ก่อนเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า
          เหวทิ้งโจร ณ ที่นี้ ทรงแสดงนิมิตต์โอภาสแก่พระอานนท์
          มาตะกุฉิ สถานที่ซึ่งพระนางโกศลเทวีพระอัครมเหสีของพระเจ้าพิมพิสาร จะทำการรีดพระครรภ์เพื่อกำจัดโอรสในพระครรภ์ทิ้งเนื่องจากเมื่อพระนางเสวย โหรทำนายว่า พระโอรสที่อยู่ในครรภ์เกิดมาจะทำปิตุฆาต พระนางโกศลเทวีพยายามทำลายด้วยการให้แท้งเสียแต่ไม่สำเร็จ ครั้นจะรีดพระครรภ์ ณ ที่นี้ พระเจ้าพิมพิสารก็ทรงห้ามไว้ ในที่สุดพระโอรสของพระเจ้าพิมพิสารคือ พระเจ้าอชาตศัตรูก็คบคิดกับพระเทวทัตฆ่าประราชบิดาตามที่โหรทำนายไว้
          ที่คุมขังพระเจ้าพิมพิสาร อยู่ ณ ที่ราบเชิงเขาคิชฌกูฏ เมื่อพระเจ้าอชาติศัตรูจับพระราชบิดามาคุมขังไว้ไม่ให้อาหารเสวย แต่พระเจ้าพิมพิสารยังทรงมีชีวิตอยู่ได้ ณ ที่นี้ เพราะได้ทอดพระเนตรเห็นพระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นลงเขาคิชฌกูฏทุกวัน เพื่อบิณฑบาตทำให้เกิดปีติเบิกบานพระทัยเสด็จเดินจงกรม เจริญกรรมฐาน เมื่อพระเจ้าอชาตศัตรูเห็นพระราชปิดายังคงมีพระชนม์ชีพอยู่ได้ จึงสั่งให้ช่างตัดผมเอามีดกรีดพระบาทแล้เอาเกลือกับน้ำมันทาแผลย่างไฟ ในที่สุดพระเจ้าพิมพิสารก็เสด็จสวรรคต ณ ที่นี้ ส่วนพระเจ้าอชาตศัตรูในภายหลังทรงสำนึกถึงความผิดทั้งปวงและกลับพระทัยได้ หันมาทรงอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนาและได้เป็นพุทธศาสนูปถัมกในการสังคายนาครั้งที่ ๑

          ๓. จาลิยบรรพต ภูเขาลูกนี้ พระพุทธเจ้าทรงประทับจำพรรษาที่ ๑๓ และพรรษาที่ ๑๘ และ ๑๙ ภายหลังจากตรัสรู้ในระหว่างเวลา ๔๕ ปีแห่งการบำเพ็ญพุทธกิจ

          ๔. ทักขิณาคีรี ณ ภูเขาลูกนี้ ที่หมู่บ้านพราหมณ์ชื่อเอกนาลาพระพุทธเจ้าทรงประทับจำพรรษาที่ ๑๑ ภายหลังจากตรัสรู้ ในระหว่าง เวลา ๔๕ ปีแห่งการบำเพ็ญพุทธกิจ

          ๕.เบญจคีรี พระนครราชคฤห์เมืองหลวงของแคว้นมคธนั้น ตั้งอยู่ในเขตที่ภูเขา ๕ ลูกล้อมรอบ อันเรียกว่าเบญจคีรี ซึ่งประกอบไปด้วยภูเขาคิชฌกฏ ภูเขาปัพภาระ ภูเขาเวลปุระ ภูเขาเวภาระ และภูเขาอิสิคิริ

          ๖. ปัพภาระ เป็นหนึ่งใน ๕ ของบรรดาภูเขาที่ล้อมรอบพระนครราชคฤห์ ที่เรียกว่าเบญจคีรี ลัฏฐิวัน หรือสวนตาลหนุ่ม ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้นอกกำแพงเมืองราชคฤห์ อยู่ ณ เชิงเขาปัพภาระแห่งนี้

          ๗. ปิปพลิคูหา ถ้าปิปผลิคูหาอยู่ ณ เชิงเขาภารบรรพต เป็นที่พักอาศัยของพระมหาสาวกกัสสปะ ผู้เป็นเลิศสุดด้านธุดงค์ และเป็นองค์ประธานสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งแรก ถ้ำปิปผลิคูหาอยู่ใต้ถ้ำสัตตบรรณคูหาลงมาประมาณ ๑๒๐ เมตร

          ๘. มกุลพรรพต ภูเขากุลพรรพตหรือกุฏบรรพต เป็นสถานที่ซึ่งพระพุทธเจ้าประทับจำพรรษาที่ ๖ ภายหลังตรัสรู้ ในระหว่าง ๔๕ ปี แห่งการบำเพ็ญพุทธกิจ (สันนิษฐานกันว่า ภูเขานี้อยู่ในแคว้นมคธหรือแคว้นโกศล หรือปริเวณใกล้เคียง) แต่ใน "ปฐมสมโพธิกถา" "เสด็จไปสถิตบนมกุฏบรรพต ทรงทรมานหมู่อสูร เทพยดา และมนุษย์ให้ละเสียพยศอันร้ายแล้ว และให้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา"

          ๙. วินทัย ภูเขาวินทัยตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้และทิศตะวันตกของแคว้นมคธ และอยู่ทางทิศใต้ของแคว้นอัวันตี

          ๑๐. เวปุลละ ภูเขาปุลละ เป็นหนึ่งใน ๕ ของบรรดาภูเขาที่ล้อมรอบพระนครราชคฤห์ ที่เรียกว่า เบญจคีรี

          ๑๑. เวภาระ ภูเขาภาระ หรือเวภารบรรพตเป็นหนึ่งใน ๕ ของบรรดาภูเขาที่ล้อมรอบพระนครราชคฤห์ ที่เรียกว่า เบญจคีรี บ่อน้ำตโปธารหรือตโปทา ซึ่งเป็นบ่อน้ำร้อนธรรมชาติที่อาบน้ำของพระสงฆ์บ่อน้ำแร่นี้ไหลตลอดปีตลอดชาตินับแต่สมัยพุทธกาล จวบจนปัจจุบันมิเคยเหือดแห้งเลย ตโปธารอยู่เชิงเขาเวภารบรรพต เช่นเดียวกับตโปทารามสวนซึ่งพระพุทธเจ้าทรงทำนิมิตต์โอภาสแก่พระอานนท์ ถ้ำปิปผลิคูหาและถ้ำสัตตบรรณคูหา อยู่ ณ เวภารบรรพตเข่นกัน

          ๑๒. สัจจพันธ์ ภูเขาสัจจพันธ์อยู่ในแคว้นสุนาปรันตะเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมายังแคว้นสุนาปรันตะพร้อมด้วย พระภิกษุสงฆ์สาวกจำนวนมากระหว่างทางทรงหยุดประทับโปรดสัจจพันธดาบสที่ภูเขาสัจจพันธ์ จากนั้นพระสัจจพันธ์ ซึ่งบรรลุพระอรหัตตผลแล้วมาในขบวนด้วย หลังจากทรงแสดงธรรมโปรดชาวสุนาปรันตะ และประทับรอยพระบาทรอยแรกไว้ที่ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทาแล้ว จากนั้นเสด็จต่อไปถึงภูเขาสัจจทันธ์ตรัสสั่งพระสัจจพัธ์ให้อยู่สั่งสอนประชาชน ณ ที่นั้น พระสัจจพันธ์ทูลขอสิ่งที่ระลึกไว้บูชา พระพุทธเจ้าทรงประทับรอบพระบาทไว้ที่ภูเขาสัจจพันธ์นั้น อันนับว่าเป็นประวัติการเกิดขึ้นของรอยพระพุทธบาทสองรอยแรก

          ๑๓. สัตตบรรณ ถ้ำสัตตบรรณคูหาอยู่ที่ภูเขาเวภารบรรพต ณ ที่นี้ พระพุทธเจ้าเคยทรงทำนิมิตต์โอภาสแก่พระอานนท์ ถ้ำสัตตบรรณคูหา อยู่เหนือถ้ำปิปผลิคูหาที่พักอาศัยของพระมหากัสสปะขึ้นไป ๑๒๐ เมตร เมื่อหลังพุทธปรินิพพาน ๓ เดือน การประชุมสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งแรกขึ้นที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา โดยพระอรหันต์ ๕๐๐ รูป มีพระมหากัสสปะเป็นประธานและเป็นผู้ถาม พระอุบาลี เป็นผู้วิสัชนาพระวินัย พระอานนท์ เป็นผู้วิสัชนาพระธรรม โดยพระเจ้าอชาตศัตรูเป็นศาสนูปถัมภก สิ้นเวลา ๗ เดือน จึงเสร็จ

          ๑๔. สัตตบริภัณฑ์ หรือเขาล้อมทั้ง ๗ เป็นคำเรียกหมู่ภูเขา ๗ เทือก ที่ล้อมรอบภูเขาพระสุเมรุ คือ ภูเขายุคนธร ภูเขาอิสินธร ภูเขากรวิก ภูเขาสุทัสสนะ ภูเขาเนมินธร ภูเขาวินตก และภูเขาอัสสกัณณ์

          ๑๕. สุกรขาตา ถ้ำสุกรขาตาอยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏ อันได้กล่าวถึงมาแล้วในเรื่องราวของภูเขาคิชฌกูฏ

          ๑๖. สุเมรุ คือภูเขาพระสุเมรุหรือสิเนรุหรือเมรุ เป็นภูเขาที่เป็นศูนย์กลางของจักรวาล ตามคติฝ่ายพระพุทธศาสนาในชั้นอรรถกถายอดเขาสิเนรุเป็นที่ตั้งของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งเป็นที่สถิตของพระอินทร์ เชิงเขาสิเนรุซึ่งหยั่งลึกลงไปในมหาสมทุรเป็นอสูรพิภพ สูงขึ้นไปกึ่งทางระหว่างแดนทั้งสองนั้น เป็นสวรรค์ของท้าวจาตุมหาราช สวรรค์ชั้นอื่น ๆ และโลกมนุษย์ ก็เรียงรายกันอยู่สูงบ้าง ต่ำบ้าง รอบเขาสิเนรุแห่งนี้

          ๑๗. หิมพานต์ คือภูเขาหิมาลัย เป็นภูเขาใหญ่ที่อยู่ทางทิศเหนือของชมพูทวีป บริเวณป่าที่อยู่โดยรอบภูเขาหิมพานต์ หรือภูเขาหิมาลัยนี้เรียกกันว่าป่าหิมพานต์ ภูเขาหิมาลัยเป็นเทือกเขาที่ยาวและสูงใหญ่มากมีความยาวถึงประมาณ ๙๓๗ กิโลเมตร กว้างประมาณ ๑๒๕ กิโลเมตร มียอดเขาสูง ๆ และหุบเขาลึก ๆ เป็นจำนวนมาก ยอดสูงที่สุดในโลก คือ ยอดเขาเอเวอเรสต์หรือที่เรียกกันว่า ภูเขาสุเมรุ มีความสูงประมาณ ๘,๗๐๐ เมตร (ปัจจุบันอยู่ในเขตแดนประเทศเนปาล)

          ๑๘. อิสิคิลิ ภูเขาอิสิคิลิ เป็นภูเขา ๑ ใน ๕ ที่ล้อมรอบพระนครราชคฤห์ ซึ่งเรียกกันว่า เบญจคีรี ที่กาฬสิลาซึ่งอยู่ข้างภูเขาอิสิคิลิเป็นที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงนิมิตต์โอภาสแก่พระอานนท์

          ๑๙. อุสีรธชะ ภูเขาอุสีรธชะเป็นภูเขาที่กั้นอาณาเขตมัชฌิมชนบทหรือถิ่นกลางที่มีความเจริญรุ่งเรือง กับปัจจันตชนบทหรือหัวเมืองชั้นนอกถิ่นที่ยังไม่เจริญ ทางด้านเหนือนับจากภูเขาอุสีรธชะเข้ามาถือเป็นมัชฌิมชนบท


<
>

  สารบัญ ความรู้เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า  

ที่มา : หนังสือ ความรู้เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า โดย ภัทรวรรณ วันทนชัยสุข
  บอกบุญ ~ ประชาสัมพันธ์