"ต้นไม้
สวน และป่า"
ต้นไม้ สวนและป่า ในสมัยพุทธกาลที่มีความเกี่ยวพันกับพุทธประวัติซึ่งนำมาประมวลไว้
ณ ที่นี้ดังนี้
ต้นไม้
๑.
ปาริฉัตตก์ คือต้นทองหลาง เป็นชื่อต้นไม้ประจำสวรรค์ชั้นที่
๒ คือ ชั้นดาวดึงส์ อยู่ในสวนนันทวัน ของพระอินทร์หรือท้าวสักะจอมเทพแห่งสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
ในพรรษาที่ ๗ ภายหลังตรัสรู้ พระพุทธเจ้าทรงเสด็จประทับภายใต้ร่มไม้ปาริฉัตตก์
(หรือปาริฉัตร, ปาริชาต) ณ ดาวดึงสเทวโลก ทรงแสดงธรรมโปรดพระพุทธมารดาตลอดสามเดือนพระพุทธมารดาได้ทรงบรรลุพระโสดาปัตติผล
ส่วนเทพยดาในโลกธาตุที่มาประชุมฟังธรรมบรรลุผลสุดที่จะประมาณ
๒.
พหุปุตตนิโครธ ต้นไทรที่อยู่ระหว่างกรุงราชคฤห์กับเมืองนาลันทา
ปิปผลิมาณพได้พบพระพุทธเจ้าและขอบวชที่พหุปุตตนิโครธนี้ครั้นบวชล่วงไปแล้ว
๗ วัน ก็ได้บรรลุพระอรหัต พระมหาสาวกมหากัสสปะ (เดิมชื่อ
ปิปผลิมาณพ) ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางถือธุดงค์
๓.
ต้นพระศรีมหาโพธิ ต้นโพธิ ต้นโพธิที่พระพุทธเจ้าประทับภายใต้ร่มเงาของต้นพระศรีมหาโพธิ
ณ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลา เสนานิคม แคว้นมคธ
ในวันเพ็ญ เดือน ๖ ก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ
ณ ภายใต้ร่มเงาของต้นพระศรีมหาโพธิแห่งนี้ นับเป็นต้นไม้ที่ตรัสรู้ของะพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน
ในรัชสมัยรัชการที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ประเทศไทยได้พันธุ์ต้นมหาโพธิ์จากต้นโพธิ์ตรัสรู้ ณ ริ่มฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา
ซึ่งดินแดน ณ ที่นั้นได้เปลี่ยนชื่อมาเรียกว่า ตำบลพุทธคยา
รัฐพิหาร นับเป็นการได้พันธุ์ต้นมหาโพธิ์ตรัสรู้โดยตรงครั้งแรก
นำมาปลูกไว้ ณ วัดเปญจมบพิตรและวัดอัษฏางนิมิตร
๔.ต้นมุจจลินทร์
หรือต้นจิก ภายหลังจากพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้แล้วถึงสัปดาห์ที่
๖ ทรงประทับภายใต้ร่มเงาของต้นไม้จิกอันมีชื่อว่า มุจจลินทร์
ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ใกล้ ๆ กับต้นพระศรีมหาโพธิพระพุทธเจ้าประทับนั่งเสวยวิมุตติสุขอยู่ใต้ต้นมุจจลินทร์เป็นเวลา
๗ วัน โดยมีพญามุจจลินทร์นาคราชมาวางขนดแผ่พังพานปกป้องพระองค์
จากสายลมและสายฝน พระพุทธองค์ทรงเปล่งอุทานแสดง ความสุขที่แท้
อันเกิดจาการไม่เบียดเบียนกัน
๕.
ต้นราชยตนะ หรือต้นไม้เกต ภายหลังจากพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้แล้วถึง
สัปดาห์ที่ ๗ ทรงประทับภายใต้ร่มเงาของต้นไม้เกตอันมีชื่อว่า
ราชายตนะ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ ใกล้ ๆ กับต้นศรีมหาโพธิ์
พระพุทธเจ้าประทับนั่งเสวยสิทุตติสุขเป็นเวลา ๗ วัน นับเป็นสัปดาห์สุดท้ายแห่งการเสวยวิมุตติสุข
ณ ที่นี้มีพ่อค้า ๒ คนนำกองเกวียนค่าขายจากแดนไกล คืออุกกลชนบท
ได้ถวายเสบียงเดินทาง สัตตุผง สัตตุก้อนแด่พระพุทธเจ้าพ่อค้าทั้งสองคือ
ตปุสสะ และภัลลิกะ ได้แสดงตนเป็นปฐมอุบาสกถึงสรณะ ๒ คือถึงพระพุทธและพระธรรม
๖.
ต้นสาละ เป็นไม้ยืนต้นชนิดหนึ่งในดินแดนชมพูทวี
มิได้เป็นชนิดเดียวกับต้นรังหรือต้นสาละลังกาที่ปลูกหรือพบในประเทศไทย
แต่อย่างใด ต้นสาละเป็นต้นไม้ที่เกี่ยวข้องกับพระสัมมาสัมพุทธเข้าตั้งปต่ประสูติ
จนถึงปรินิพพาน
พระพุทธองค์ทรงประสูติภายใต้ต้นสาละใหญ่
ณ อุทยานลุมพินีซึ่งตั้งอยู่ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ
กับกรุงเทวทหะ แคว้นโกลิยะ ยามนั้นแดดอ่อนดวงตะวันยังไม่ขึ้นตรงศรีษะเป็นวันเพ็ญ
เดือน ๖ ก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี ยามนั้นอากาศโปร่ง ต้นไม้ในป่าสาละอุทยานลุมพินีกำลังผลิตดอกออกในอ่อน
ดอกไม้นานาพรรณ กำลังเบ่งบาน ส่งกลิ่นเป็นที่จำเริญใจ
ครั้นยามสามของวันเพ็ญ
เดือน ๖ ก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี พระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญเพียรจนตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ
ภายใต้ร่มเงาพระศรีมหาโพธิ ภายในป่า สาละ ใกล้แม่น้ำเนรัญชรา
ณ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แคว้นมคธ
ครั้น วันเพ็ญเดือน ๘ สองเดือนภายหลังจากพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้พระพุทธองค์เสด็จมาถึงบริเวณป่าสาละอันร่มรื่น
ณ อุทยานมฤคทายวันหรืออิสิปตนมฤคทายวัน ทางทิศเหนือใกล้เมืองพาราณสี
แคว้นกาสี ณ ที่นี้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเทศนากัณฑ์แรก
คือ ธัมมจักกัปปวันสุตร โปรดปัญจวัคคีย์ พระรัตนตรัยเกิดครบบริบูรณ์ครั้งแรกในโลกนี้
คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
เมื่อพระพุทธเจ้ามีพระชนมายุ
ครบ ๘๐ พรรษาได้เสด็จถึงสาลวโนทยานหรือสวนป่าไม้สาละของมัลลกษัตริย์
ใกล้เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ เป็นเวลาใกล้ค้ำของวันเพ็ญ
เดือน ๖ วันสุดท้ายก่อนการกำเนิดพุทธศักราช พระพุทธเจ้าทรงรับสั่งให้พระอานนท์ปูลาดที่บรรทมระหว่างต้นสาละใหญ่
๒ ต้น ทรงเอนพระวรกายลงโดยหันพระเศียรไปทางทิศเหนือ ประทับไสยาสน์แบบสีหไสยาเป็นอนุฏฐานไสยาคือเป็นการนอนครั้งสุดท้ายจนกระทั่งสังขารดับ
๗.อปชาลนิโครธ
ต้นไทรที่พระพุทธเจ้าทรงประทับนั่งเสวยวิมุตติสุขในสัปดาห์ที่
๕ ภายหลังทรงตรัสรู้ พระพุทธองค์ประทับนั่งภายใต้ร่มเงาของอปชาลนิโครธเป็นเวลา
๗ วัน ต้นอปชาลนิโครธอยู่ทางทิศตะวันออกของต้นศรีมหาโพธิ์
๘.อัสสัตถพฤกษ์ คือต้นพระศรีมหาโพธิ ณ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา
ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม อันเป็นสถานที่ซึ่งพระมหาบุรุษได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ
๙.
อานันทมหาโพธิ เป็นต้นโพธิ์ตรัสรู้ที่เป็นหน่อของต้นเดิมที่พระพุทธเจ้าประทับนั่งใต้ร่มเงาได้ตรัสรู้
ได้นำเมล็ดไปปลูกเป็นต้นแรกในสมัยพุทธกาล โดยพระอานนท์เป็นผู้ดำเนินการปลูกที่ประตูวัดพระเชตวันมหาวิหาร
พระนครสาวัตถี แคว้นโกศล ต้นโพธิ์นั้นเรียกว่า อานันทมหาโพธิ์
ทุกวันนี้ยังปรากฏอยู่
ทั้งนี้พระยามที่พระพุทธเจ้าประทับจำพรรษาที่พระเชตวันมหาวิหารนั้น
แต่ละปี พระพุทธเจ้าประทับเพียงปีละ ๓ เดือนในฤดูพรรษาส่วนอีก
๙ เดือนนอกพรรษา พระพุทธเจ้าต้องเสด็จไปสู่ที่อื่นเสียปีละ
๙ เดือน ชาวนครสาวัตถีก็เกิดวิปฏิสารร้อนใจ ใคร่ทูลให้ประทับอยู่ตลอดปี
พระพุทธเจ้าทรงทราบความทุกข์ของชาวเมือง จึงรับสั่งให้พระอานนท์นำเมล็ดจากต้นศรีมหาโพธิ
มาปลูกไว้หน้าประตูมหาวิหารเชตวัน เพื่อเป็นเครื่องหมายแทนพระองค์
เพื่อว่าสมัยใดที่พระพุทธเจ้าไม่ประทับพักอยู่ มหาชนจะได้บูชาต้นโพธิ์นั้นแทนองค์พระพุทธเจ้า
สวนและป่า
๑.ชีวกัมพวัน คือ สวนมะม่วงของหมอชีวกโกมารภัจจ์ ได้ถวายเป็นสังฆาราม
ด้วยศรัทธาในพระพุทธเจ้าและปรารถนาจะเข้าเฝ้าวันละ ๒-๓
ครั้ง หมอชีวกโกมารภัจจซึ่งบรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันและเป็นแพทย์ประจำประองค์พระพุทธเจ้า
ได้สร้างวัดถวายในสวนมะม่วงแห่งนี้ชีวกัมพวันอยู่ในพระนครราชคฤห์
แคว้นมคธ
๒.ตโปทาราม สวนซึ่งอยู่ใกล้บ่อน้ำพุร้อน ชื่อตโปทาอยู่ใกล้ภูเขาเวภารบรรพต
ใกล้พระนครราชคฤห์ แคว้นมคธ สถานที่แห่งนี้พระพุทธเจ้าเคยทำนิมิตต์โอภาสแก่พระอานนท์
๓.ปาจีนวังสทายวัน ป่าปาจีนวังสทายวัน อยู่ในแคว้นเจตี เป็นที่ตั้งสำนักของพระสารีบุตร
พระอัครสาวกเบื้องขวาของพระพุทธเจ้าพระอนุรุทธะ พระมหาสาวกองค์หนึ่งซึ่งเป็นเจ้าชายในศากยวงศ์
เรียนกรรมฐานได้บรรลุพระอรหัต ณ ที่นี้
๔.
ปาวาริกัมพวัน เป็นสวนมะม่วงของปาวาริกเศรษฐี
อยู่ในเมืองนาลันทา ซึ่งเป็นเมืองเล็ก ๆ เมืองหนึ่งในแคว้นมคธ
อยู่ห่างจากพระนครราชคฤห์ ประมาณ ๑๖ กิโลเมตร ณ ที่นี้พระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับแรมหลายครั้ง
๕.
เภสกลาวัน เป็นป่าไม้สีเสียด ใกล้เมืองสุงมารคีรีนครหลวงของแคว้นภัคคะ
ในพรรษาที่ ๘ ภายหลังจากทรงตรัสรู้ พระพุทธเจ้าเสด็จประทับจำพรรษาอยู่ที่เภสกลาวัน
๖.ป่ามหาวัน กรุงกบิลพัสดุ์ เป็นป่าใหญ่ใกล้ครกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ
พระพุทธเจ้าเคยเสด็จไปทรงพักผ่อนระหว่าประทับอยู่ที่นิโครธารามซึ่งเป็นอารามที่พระญาติสร้างถวายพระพุทธเจ้า
ใกล้กรุงกบิลพัสดุ์เช่นกัน พระพุทธเจ้าประทับจำพรรษาที่
๑๕ ภายหลังจากทรงตรัสรู้ที่นิโครธาราม
๗.
ป่ามหาวัน นครเวสาลี เป็นป่าใหญ่ ใกล้เมืองเวสาลี
แคว้นวัชชี ในพรรษาที่ ๕ ภายหลังจากทรงตรัสรู้ พระพุทธเจ้า
ประทับจำพรรษาอยู่ที่กูฏาคารในป่ามหาวัน นครเวลาลี ณ ที่นี้
พระบรมศาสดาทรงอนุญาตให้มีภิกษุณีสงฆ์ขึ้นเป็นครั้งแรก
๘.
มัททกุจฉิมิคทายวัน มีความหมายถึง ป่าเป็นที่อภัยแก่เนื้อชื่อ
มัททกุจฉิ อยู่ที่พระนครราชคฤห์ แคว้นมคธ ณ ที่นี้พระพุทธเจ้าทรงทำนิมิตต์โอภาสแก่พระอานนท์
๙.มิคจิรวัน ป่ารักขิตวันอยู่ในแดนบ้านปาริเลยยกะ ใกล้เมืองโกสัมพี
แคว้นวังสะ ในพรรษาที่ ๑๐ ภายหลังจากทรงตรัสรู้พระพุทธเจ้าเสด็จเข้าไปอาศัยอยู่ในป่ารักขิตวัน
ด้วยทรงปลีกพระองค์จากพระสงฆ์ผู้แตกกัน ณ โฆสิตาราม กรุงโกสัมพี
พญาช้างปาริเลยกะคอยเฝ้าปรนนิบัติรับใช้พระพุทธองค์ ในป่ารักขิตวัน
๑๑.ไร่ฝ้าย ขณะพระพุทธเจ้าเสด็จแวะเข้าไปประทับพักอยู่ที่ไร่ฝ้ายแห่งหนึ่ง
คณะสหาย๓๐ คน ชื่อคณะภัททวัคคีย์ได้พากันเข้ามาที่ไร่ฝ้ายแห่งนี้
เพื่อเที่ยวตามหาหญิงแพศยาผู้ลักห่อเครื่องประดับหนีไปเมื่อได้พบพระพุทธเจ้าและได้ฟังเทศนาอนุปุพพิกถา
(เทศนาที่แสดงไปโดยลำดับ เพื่อฟอกอัธยาศัยของสัตว์ให้หมดจดเป็นชั้น
ๆ จากง่ายไปหายาก เพื่อเตรียมจิตของผู้ฟังให้พร้อมที่จะรับฟังอริยสัจ)
จากนั้นพระพุทธองค์ทรงเทศนาอริยสัจ ๔ (คือความจริงอย่างประเสริฐมี
๔ อย่าง คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค) คณะภัททวัคคีย์
ทั้ง ๓๐ คนได้ดวงตาเห็นธรรมแล้วขออุปสมบท
๑๒.
ลัฏฐิวัน สวนตาลหนุ่ม อยู่ทางทิศตะวันตดเฉียงใต้ของพระนครราชคฤห์
เชิงภูเขาปัพภาระ แคว้นมคธ ณ กาลนั้นเป็นตอนปลายของพรรษาที่
๑ ภายหลังจากทรงตรัสรู้ พระเจ้าพิมพิสารราชาผู้ครองแคว้นมคธพร้อมด้วยราชบริพาร
๑๑ นหุต (๑ นหุต = ๑๐,๐๐๐ จึงเป็นจำนวนหนึ่งแสนหนึ่งหมื่นคน)
เสด็จต้องรับพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยหมู่ภิกษุสาวกซึ่งเสด็จถึงพระนครราชคฤห์
ประทับอยู่ ณ ลัฏฐิวันบรรดาราชบริพารเหล่านี้ยังไม่รู้จักพระพุทธศาสนา
จึงแสดงอาการกริยาต่าง ๆกัน บางพวกถวายบังคม บางพวกประนมมือ
บางพวกกล่าววาจาปราศรัย บางพวกประกาศชื่อและโคตรของตน
บางพวกนิ่งอยู่พระพุทธเจ้าจึงตรัสถามนำพระอุรุเวลากัสสปะ
ผู้เคยเป็นคณาจารย์ใหญ่หัวหน้าชฏิลสามพี่น้อง เป็นผู้ที่ชาวนครราชคฤห์นับถือมากพระพุทธองค์ทรงถามว่า
ทำไมจึงเลิกบูชาไฟ พระอุรุเวลกัสสปะกราบทูลประกาศความไม่มีแก่นสารแห่งลัทธิเดิม
บรรดาราชบริพารทราบแล้วก็เชื่อถือ จึงตั้งใจฟังพระธรรมเทศนาที่พระองค์แสดงพระเจ้าพิมพิสารและราชบริพารจำนวนมาก
เมื่อสดับพระธรรมเทศนาได้ธรรมจักษุ พระเจ้าพิมพิสารประกาศพระองค์เป็นอุบาสก
ณ ที่นี้
๑๓.
ลุมพินีวัน เป็นสวนที่ประสูติของพระพุทธเจ้า
ภายใต้ต้นสาละใหญ่ ในเวลาใกล้เที่ยง เมือวันเพ็ญเดือน
๖ วันศุกร์ ปีจอ ก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี เป็นสังเวชนียสถาน
๑ ใน ๔ แห่ง ตั้งอยู่ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ
และกรุงเทวทหะ แคว้นโกลิยะ (ปัจจุบันนี้ อยู่ในตำบลลุมมินเด
แขวงเปชวาร์ ในเขตประเทศเนปาล ห่างจากเขตแดนประเทศอินเดีย
ไปทางเหนือประมาณ ๖ กิโลเมตร ครึ่ง บัดนี้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นสิทธารถนคร
๑๔.
เวฬุวัน เป็นป่าไผ่ สวนที่ประพาสพักผ่อนของพระเจ้าพิมพิสารราชาผู้ครองแคว้นมคธ
อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากพระนครราชคฤห์ เป็นที่ร่มรื่นสงบเงียบ
มีทางไปมาสะดวก ภายหลังจากพระเจ้าพิมพิสารทรงสดับพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้า
ได้ธรรมจักษุประกาศพระองค์เป็นอุบาสก ณ ลัฏฐิวัน พระเจ้าพิมพิสารจึงทรงพระราชดำริหาที่ประทับให้พระพุทธเจ้า
ทรงเห็นว่าพระราชอุทยานเวฬุวันสวนไม่ไผ่เหมาะสม จึงถวายเป็นสังฆาราม
พระพุทธเจ้าทรงรับและประทานพุทธานุญาตให้ภิกษุรับอารามที่ทายกถวายได้
การถวายอารมเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ณ ที่นี้ นับเป็นวัดแรกในพระพุทธศาสนา
๑๕.สักกะ เป็นดงไม้ที่อยู่ในชมพูทวีปตอนเหนือ แถบเทือกเขาหิมาลัยในเขตป่าหิมพานต์
๑๖.สาลวโนทยาน สวนป่าไม้สาละของมัลลกษัตริย์ ราชาผู้ครองแคว้นมัลละ ตั้งอยู่ใกล้เมืองกุสินารา
พระพุทธเจ้าทรงดับขันธปรินิพพานภายใต้ร่มไม้ต้นสาละใหญ่
๒ ต้นในสาลวโนยาน ในยามค้ำของวันเพ็ญเดือน ๖ ปีมะเส็ง
วันสุดท้ายก่อนเริ่มพุทธศักราช
๑๗.
หิมพานต์ ป่าหิมพานต์เป็นป่าใหญ่เชิงเขาหิมพานต์
ซึ่งเป็นภูเขาสูงใหญ่ทางตอนเหนือของชมพูทวีป พระนาลกะ
หนึ่งในพระมหาสาวก หลานชายของอสิตดาบสออกบวชตามคำแนะนำของลุง
และไปบำเพ็ญสมณธรรมรอการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ณ ป่าหิมพานต์
ครั้น พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ได้มาทูลถามเรื่องโมไนยปฏปทา
(ข้อปฏิบัติธรรมที่ทำให้เป็นปราชญ์) และกลับไปบำเพ็ญสมณธรรมในป่าหิมพานต์
ได้บรรลุพระอรหัตแล้ว ดำรงอายุอยู่อีก ๗ เดือน ก็ปรินิพานในป่าแห่งนี้
๑๘.
อนุปิยอัมพวัน สวนป้าไม้มะม่วง อนุปิยอัมพวัน
อยธในเขตอนุปิยนิคม แขวง มัลลชนบท พระมหาบุรุษเสด็จพักแรม
ณ ที่นี้ ๗ วัน ครั้ง วันที่ ๘ จึงเสด็จดำเนินจากอนุปิยอัมพวันเข้าไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์
แคว้นมคธ โดยกิริยาสงบอยู่ในอาการสังวร สมควรแก่ภาวะของสมณะเป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใสของทุกคนที่ได้เห็น
พวกราชบุรุษนำความที่ได้พบเห็นไปกราบทูลพระเจ้าพิมพิศาร
มีรับสั่งให้สะกดรอยติดตามเพื่อทราบความเท็จจริงของพรรพชิตเศษรูปนี้
ครั้นทรงสดับความจริงแล้ว พระเจ้าพิมพิสารทรงพระประสงค์
จะได้พบกับพระมหาบุรุษ
ต่อมาเจ้าชายศากยวงศ์ทั้ง
๖ คือพระภัททิยะ พระอนุรุทธะ พระอานนท์ พระภัคคุ พรกิมพิละ
พระเทวทัต และมีอบาลีอำมาตย์ ช่างกัลบก รวมเป็น ๗ พร้อมใจออกบรรพชา
ได้ออกบวช ณ สวนป่าไม้ มะม่วงอนุปิยอัมพวันแห่งนี้
๑๙.อัมพปาลีวัน สวนที่หญิงแพศยาชื่อ อัมพปาลี ถวายเป็นสังฆาราม ไม่นานก่อนพุทธปรินิพพาน
อยู่ในเขตเมือเวสาลี แคว้นวัชชี (แพศยา หมายถึง หญิงหาเงินในทางร่วมประเวณี
หรือ โสเภณีในปัจจุบัน)
๒๐.
อิสิปตนมฤคทายวัน คือป่าที่ให้อภัยแก่เนื้อชื่อ
อิสิปตนะอยู่ใกล้เมืองพาราณสี แคว้นกาสี ณ ป่าแห่งนี้พระพุทธเจ้าได้ทรงประกาศพระธัมมจักกัปปวัตนสูตร
(พระสูตรว่าด้วยการยังธรรมจักรให้เป็นไป)ประทานปฐมเทศนาแก่ปัญจวัคคีย์
ทั้ง ๕ รูป ในวันเพ็ญ เดือน ๘ พระรัตนตรัยคือ พระพุทธ
พระธรรม พระสงฆ์ ได้เกิดขึ้นบริบูรณ์ในกาลนั้น ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน |