ค้นหาในเว็บไซต์ :

พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด อกนิษฐ์ - อกุปปธรรม

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


อกนิษฐ์ - อกุปปธรรม

อกนิษฐ์ รูปพรหมชั้นสูงสุดในพรหมสิบหกชั้น และเป็นสุทธาวาสภูมิชั้นสูงสุด (ข้อ ๕ ในสุทธาวาส ๕)

อกรณียะ กิจอันบรรพชิตไม่ควรทำ ๔ อย่าง ทำแล้วขาดจากความเป็นภิกษุ คือ ๑. เสพเมถุน ๒. ลักของเขาตั้งแต่ ๕ มาสกขึ้นไป ๓. ฆ่ามนุษย์ ๔. อวดคุณพิเศษ (อุตริมนุสธรรม) ที่ไม่มีในตน (สำหรับภิกษุณี มี ๘) ดู อนุศาสน์

อกัปปิยะ ไม่ควร, ไม่สมควรแก่ภิกษุจะบริโภคใช้สอย คือ ต้องห้ามด้วยพระพุทธเจ้าไม่ทรงอนุญาตให้ภิกษุใช้หรือฉัน, สิ่งที่ตรงข้ามกับ กัปปิยะ

อกัปปิยวัตถุ สิ่งที่ไม่เหมาะไม่ควร คือภิกษุไม่ควรบริโภคใช้สอย

อกปฺปิเย กปฺปิยสญฺญิตา อาการที่จะต้องอาบัติด้วยสำคัญว่าควร ในของที่ไม่ควร

อกาละ เวลาอันไม่ควร

อกาลจีวร จีวรที่เกิดขึ้นนอกเขต จีวรกาล นอกเขตอานิสงส์กฐิน

อกาลิโก พระธรรมไม่ประกอบด้วยกาล, ให้ผลไม่จำกัดกาล คือไม่ขึ้นกับกาลเวลา ไม่จำกัดด้วยกาล ให้ผลแก่ผู้ปฏิบัติทุกเวลา ทุกโอกาส บรรลุเมื่อใดก็ได้รับผลเมื่อนั้น ไม่เหมือนผลไม้ที่ให้ผลตามฤดู, อีกอย่างหนึ่งว่าเป็นจริงอยู่อย่างไร ก็เป็นจริงอยู่อย่างนั้นเรื่อยไป (ข้อ ๓ ในธรรมคุณ ๖)

อกิริยทิฏฐิ ความเห็นว่าไม่เป็นอันทำ, เห็นว่าการกระทำไม่มีผล อธิบายอย่างง่าย เช่น ทำชั่ว หากไม่มีคนรู้คนเห็น ไม่มีคนชม ไม่มีคนลงโทษ ก็ชื่อว่าไม่เป็นอันทำ เป็นมิจฉาทิฏฐิร้ายแรงอย่างหนึ่ง (ข้อ ๑ ในทิฏฐิ ๓)

อกุปปธรรม ผู้มีธรรมที่ไม่กำเริบ คือผู้ที่เมื่อได้สมาบัติแล้ว สมาบัตินั้นจะไม่เสื่อมไปเลย ได้แก่พระอริยบุคคลทั้งหมด เทียบ กุปปธรรม




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย