อตีตังสญาณ - อธิกรณ์
อตีตังสญาณ ญาณหยั่งรู้ส่วนอดีต, ปรีชากำหนดรู้เหตุการณ์ที่ล่วงไปแล้วอันเป็นเหตุให้ได้รับผลในปัจจุบัน (ข้อ ๑ ในญาณ ๓)
อเตกิจฉา แก้ไขไม่ได้, เยียวยาไม่ได้ หมายถึงอาบัติมีโทษหนักถึงที่สุด ต้องแล้วขาดจากความเป็นภิกษุ คืออาบัติปาราชิก คู่กับ สเตกิจฉา
อถัพพนเพท ชื่อคัมภีร์พระเวทลำดับที่ ๔ ว่าด้วยคาถาอาคมทางไสยศาสตร์ การปลุกเสกต่าง ๆ เป็นส่วนเพิ่มเข้ามาต่อจาก ไตรเพท, อาถัพพนเวท อถรรพเวท อาถรรพณเวท ก็เขียน
อทินนาทาน ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ด้วยอาการแห่งขโมย, ขโมยสิ่งของ, ลักทรัพย์ (ข้อ ๒ ในกรรมกิเลส ๔ ในอกุศลกรรมบถ ๑๐)
อทินนาทานา เวรมณี เว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้, เว้นการลักขโมย (ข้อ ๒ ในศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ กุศลกรรมบถ ๑๐)
อทิสสมานกาย กายที่มองไม่เห็น, ผู้มีกายไม่ปรากฏ, ไม่ปรากฏร่าง, มองไม่เห็นตัว กล่าวคือ เป็นวิสัยของผู้มีฤทธิ์บางประเภท (วิกุพพนฤทธิ์) อาจทำการบางอย่างโดยไม่ให้ผู้อื่นมองเห็นร่างกาย; อีกอย่างหนึ่ง เป็นความเชื่อของพวกพราหมณ์ว่าบรรพบุรุษที่ตายไป มีถิ่นเป็นที่อยู่เรียกว่าปิตฤโลก ยังทรงอยู่ด้วยเป็นอทิสสมานกาย ความเชื่อนี้คนไทยก็รับมา แต่ให้บรรพบุรุษเหล่านั้นคงอยู่ที่บ้านเรือนเดิม อย่างที่เรียกว่า ผีเรือน
อทุกขมสุข ไม่ทุกข์ไม่สุข, ความรู้สึก เฉย ๆ (ข้อ ๓ ในเวทนา ๓)
อโทสะ ความไม่คิดประทุษร้าย, ธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ คือตรงข้ามกับโทสะได้แก่ เมตตา (ข้อ ๒ ในกุศลมูล ๓)
อธรรม ไม่ใช่ธรรม, ไม่เป็นธรรม, ผิดธรรม, ชั่วร้าย
อธรรมวาที ผู้กล่าวสิ่งที่มิใช่ธรรม, ผู้ไม่พูดตามหลักไม่พูดตามธรรม, ผู้พูดไม่เป็นธรรม, ผู้ไม่เป็นธรรมวาที
อธิกมาส เดือนที่เพิ่มขึ้นตามจันทรคติ (คือในปีนั้นมีเดือน ๘ สองหน รวมเป็น ๑๓ เดือน)
อธิกรณ์ เรื่องที่เกิดขึ้นแล้วจะต้องจัดต้องทำ, เรื่องที่สงฆ์ต้องดำเนินการ มี ๔ อย่าง คือ
๑. วิวาทาธิกรณ์ การเถียงกันเกี่ยวกับพระธรรมวินัย
๒. อนุวาทาธิกรณ์ การโจทหรือกล่าวหากันด้วยอาบัติ
๓. อาปัตตาธิกรณ์ การต้องอาบัติ การปรับอาบัติ และการแก้ไขตัวให้พ้นจากอาบัติ
๔. กิจจาธิกรณ์ กิจธุระต่างๆ ที่สงฆ์จะต้องทำ เช่น ให้อุปสมบท ให้ผ้ากฐิน, ในภาษาไทย อธิกรณ์มีความหมายเลือนลางลงและแคบเข้า กลายเป็น คดีความโทษ เป็นต้น