พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด อธิปเตยยะ, อธิปไตย - อธิษฐาน

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


อธิปเตยยะ, อธิปไตย - อธิษฐาน

อธิปเตยยะ, อธิปไตย ความเป็นใหญ่มี ๓ อย่างคือ ๑. อัตตาธิปไตย ความมีตนเป็นใหญ่ ๒. โลกาธิปไตย ความมีโลกเป็นใหญ่ ๓. ธัมมาธิปไตย ความมีธรรมเป็นใหญ่

อธิปัญญาสิกขา การศึกษาในอธิปัญญา, ข้อปฏิบัติสำหรับฝึกอบรมปัญญา เพื่อให้เกิดความรู้แจ้งอย่างสูง มองเห็นสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง จนจิตใจหลุดพ้นเป็นอิสระ ปราศจากกิเลสและความทุกข์ (ข้อ ๓ ในสิกขา ๓ หรือไตรสิกขา) เรียกกันง่ายๆ ว่า ปัญญา

อธิมุตติ อัธยาศัย, ความโน้มเอียง, ความคิดมุ่งไป, ความมุ่งหมาย

อธิโมกข์ 1. ความปลงใจ, ความตกลงใจ, ความปักใจในอารมณ์ 2. ความน้อมใจเชื่อ, ความซาบซึ้งศรัทธาหรือเลื่อมใสอย่างแรงกล้า ซึ่งทำให้จิตใจเจิดจ้าหมดความเศร้าหมอง แต่ไม่เป็นไปตามแนวทางแห่งเหตุผล

อธิวาสนขันติ ความอดทนคือความอดกลั้น

อธิศีลสิกขา การศึกษาในอธิศีล, ข้อปฏิบัติสำหรับฝึกอบรมในทางความประพฤติอย่างสูง, การฝึกฝนอบรมความประพฤติทางกาย วาจา คือ ระเบียบวินัย การอยู่ร่วมกับผู้อื่นและในสิ่งแวดล้อมต่างๆ ด้วยดี ให้เกื้อกูล ไม่เบียดเบียน ไม่ทำลาย เป็นพื้นฐานแห่งการฝึกอบรมจิตใจในอธิจิตตสิกขา (ข้อ ๑ ในสิกขา ๓ หรือไตรสิกขา), เขียนอย่างบาลีเป็น อธิสีลสิกขา และเรียกกันง่ายๆ ว่า ศีล

อธิษฐาน
1. ในทางพระวินัย แปลว่าการตั้งเอาไว้หรือตั้งใจกำหนดเอาไว้คือตั้งเอาไว้เป็นของนั้นๆ หรือตั้งใจกำหนดเอาไว้ว่าจะใช้เป็นของประจำตัวชนิดนั้นๆ เช่นได้ผ้ามาผืนหนึ่งตั้งใจว่าใช้เป็นอะไร คือจะเป็นสังฆาฏิ อุตตราสงค์ อันตรวาสก ก็อธิษฐานเป็นอย่างนั้นๆ เมื่ออธิษฐานแล้ว ของนั้นเรียกว่าเป็นของอธิษฐาน เช่น เป็นสังฆาฏิอธิษฐาน จีวรอธิษฐาน (นิยมเรียกกันว่า จีวรครอง) ตลอดจนบาตรอธิษฐาน ส่วนของชนิดนั้น ที่ได้เพิ่มมาอีกหรือเกินจากนั้นไปก็เป็นอติเรก เช่น เป็นอติเรกจีวร อติเรกบาตร, คำอธิษฐาน เช่น “อิมํ สงฺฆาฏึ อธิฏฺฐามิ” (ถ้าอธิษฐานของอื่น ก็เปลี่ยนไปตามชื่อของนั้น เช่น เป็น อุตฺตราสงฺคํ, อนฺตราวาสกํ เป็นต้น)

2. ความตั้งใจมั่น, การตัดสินใจเด็ดเดี่ยว, ความมั่นคง เด็ดเดี่ยว แน่วแน่ในทางดำเนินและจุดมุ่งหมายของตน (ข้อ ๘ ในบารมี ๑๐), ในภาษาไทยมักใช้ในความหมายว่า ความตั้งใจ มุ่งผลอย่างใดอย่างหนึ่ง, ความตั้งจิตปรารถนา




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย