ค้นหาในเว็บไซต์ :

พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด อนาบัติ - อนิจจลักษณะ

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


อนาบัติ - อนิจจลักษณะ

อนาบัติ ไม่เป็นอาบัติ

อนาถปัตติวาร ตอนว่าด้วยข้อยกเว้นที่ไม่ต้องปรับอาบัตินั้นๆ ตามปกติอยู่ท้ายคำอธิบายสิกขาบทแต่ละข้อในคัมภีร์วิภังค์ พระวินัยปิฎก

อนามัฏฐบิณฑบาต อาหารที่พระภิกษุบิณฑบาตได้มายังไม่ได้ฉัน จะให้แก่ผู้อื่นที่ไม่ใช่ภิกษุด้วยกันไม่ได้ นอกจากมารดาบิดา

อนามาส วัตถุอันภิกษุไม่ควรจับต้อง เช่น ร่างกายและเครื่องแต่งกายสตรี เงินทอง อาวุธ เป็นต้น

อนาโรจนา การไม่บอก คือ ไม่บอกประจานตัวแก่ภิกษุทั้งหลายภายในเขต ๒ เลฑฑุบาตจากเครื่องล้อมหรือจากอุปจารแห่งอาวาส ให้รู้ทั่วกันว่าตนต้องอาบัติสังฆาทิเสส กำลังอยู่ปริวาสหรือประพฤติมานัตต์; เป็นเหตุอย่างหนึ่งของการขาดราตรีแห่งมานัตต์หรือปริวาส ผู้ประพฤติมานัตต์ต้องบอกทุกวัน แต่ผู้อยู่ปริวาส ไม่ต้องบอกทุกวัน ปกตัตตภิกษุรูปใดยังไม่ได้รับบอก เธอบอกแก่ภิกษุรูปนั้นครั้งหนึ่งแล้ว ไม่ต้องบอกอีกตลอดกาลที่อยู่ในอาวาสหรือในอนาวาสนั้น แต่ต้องบอกในท้ายอุโบสถท้ายปวารณาเมื่อถึงวันนั้นๆ และภิกษุใดได้รับบอกแล้วออกจากอาวาสหรืออนาวาสนั้นไป เมื่อกลับมาใหม่ต้องได้รับบอกอีก ดู รัตติเฉท

อนาวรณญาณ ปรีชาหยั่งรู้ที่ไม่มีอะไรๆ มากั้นได้ หมายความว่า รู้ตลอด, รู้ทะลุปรุโปร่ง เป็นพระปรีชาญาณเฉพาะของพระพุทธเจ้า ไม่ทั่วไปแก่พระสาวก

อนาวาส ถิ่นที่มิใช่อาวาส คือ ไม่เป็นวัด

อนาสวะ ไม่มีอาสวะ, อันหาอาสวะมิได้

อนิจจตา ความเป็นของไม่เที่ยง, ภาวะที่สังขารทั้งปวงเป็นสิ่งไม่เที่ยงไม่คงที่ (ข้อ ๑ ในไตรลักษณ์)

อนิจจลักษณะ ลักษณะที่เป็นอนิจจะ, ลักษณะที่ให้เห็นว่าเป็นของไม่เที่ยงไม่คงที่ ได้แก่
๑. เป็นไปโดยการเกิดขึ้นและสลายไป คือ เกิดดับๆ มีแล้วก็ไม่มี
๒. เป็นของแปรปรวน คือเปลี่ยนแปลงแปรสภาพไปเรื่อยๆ
๓. เป็นของชั่วคราว อยู่ได้ชั่วขณะๆ
๔. แย้งต่อความเที่ยง คือ โดยสภาวะของมันเอง ก็ปฏิเสธความเที่ยงอยู่ในตัว




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย