อนุตตริยะ - อนุปาทิเสสนิพพาน
อนุตตริยะ ภาวะที่ยอดเยี่ยม, สิ่งที่ยอดเยี่ยม มี ๓ คือ ๑. ทัสสนานุตตรริยะ การเห็นอันเยี่ยม คือ เห็นธรรม ๒. ปฏิปทานุตตริยะ การปฏิบัติอันเยี่ยม คือ มรรคมีองค์ ๘ ๓. วิมุตตานุตตริยะ การพ้นอันเยี่ยม คือ พ้นกิเลสและกองทุกข์;
อนุตตริยะอีกหมวดหนึ่งมี ๖ คือ ๑. ทัสสนานุตตรริยะ การเห็นอันเยี่ยม ๒. สวนานุตตริยะ การฟังอันเยี่ยม ๓. ลาภานุตตริยะ ลาภหรือการได้อันเยี่ยม ๔. สิกขานุตตริยะ การศึกษาอันเยี่ยม
๕. ปาริจริยานุตตริยะ การบำรุงอันเยี่ยม ๖. อนุสสตานุตตริยะ การระลึกอันเยี่ยม ดู คำอธิบายที่คำนั้นๆ
อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ ทรงเป็นสารถี ฝึกคนที่ควรฝึกได้เป็นเยี่ยม ทรงรู้จักใช้อุบายให้เหมาะแก่บุคคล สอนเขาได้โดยไม่ต้องใช้อาชญา และทำให้เขาบรรลุผลที่พึงได้ เต็มตามกำลังความสามารถของเขา (ข้อ ๖ ในพุทธคุณ ๙)
อนุทูต ทูตติดตาม, ในพระวินัย หมายถึง ภิกษุที่สงฆ์สมมติให้เป็นตัวแทนของสงฆ์ เดินทางร่วมไปกับภิกษุผู้ถูกสงฆ์ลงโทษด้วย ปฏิสารณียกรรม ให้ไปขอขมาคฤหัสถ์ ในกรณีที่เธอไม่อาจไปตามลำพัง อนุทูตทำหน้าที่ช่วยพูดกับคฤหัสถ์นั้นเป็นส่วนตนหรือในนามของสงฆ์ เพื่อให้ตกลงรับขมา เมื่อตกลงกันแล้ว รับอาบัติที่ภิกษุนั้นแสดงต่อหน้าเขาแล้วจึงให้ขมา
อนุบัญญัติ บัญญัติเพิ่มเติม, บทแก้ไขเพิ่มเติมที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติเสริมหรือผ่อนพระบัญญัติที่วางไว้เดิม คู่กับ บัญญัติ หรือ มูลบัญญัติ
อนุบุพพิกถา ดู อนุปุพพิกถา
อนุบุรุษ คนรุ่นหลัง, คนที่เกิดทีหลัง
อนุปสัมบัน ผู้ยังมิได้อุปสมบท ได้แก่คฤหัสถ์และสามเณร (รวมทั้งสิกขมานาและสามเณรี), ผู้มิใช่ภิกษุหรือภิกษุณี เทียบ อุปสัมบัน
อุนุปาทินนกสังขา สังขารที่กรรมไม่ยึดครอง แปลกันง่ายๆ ว่า สังขารที่ไม่มีใจครอง เช่น ต้นไม้ ภูเขา เป็นต้น (ข้อ ๒ ในสังขาร ๒)
อนุปาทิเสสนิพพาน นิพพานไม่มีอุปาทิเหลือ, ดับกิเลสไม่มีเบญจขันธ์เหลือ คือ สิ้นทั้งกิเลสและชีวิต หมายถึง พระอรหันต์สิ้นชีวิต, นิพพานในแง่ที่เป็นภาวะดับภพ; เทียบ สอุปาทิเสสนิพพาน