ค้นหาในเว็บไซต์ :

พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด อภิสมาจาริกาสิกขา - อมาวสี

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


อภิสมาจาริกาสิกขา - อมาวสี

อภิสมาจาริกาสิกขา หลักการศึกษาอบรมในฝ่ายขนบธรรมเนียมที่จะชักนำความประพฤติ ความเป็นอยู่ของพระสงฆ์ให้ดีงามมีคุณยิ่งขึ้นไป, สิกขาฝ่ายอภิสมาจาร เทียบ อาทิพรหมจริยกา สิกขา

อภิสังขาร สภาพที่ปรุงแต่งผลแห่งการ กระทำของบุคคล, เจตนาที่เป็นตัว การในการทำกรรม มี ๓ อย่างคือ
๑. ปุญญาภิสังขาร อภิสังขารที่เป็นบุญ
๒. อปุญญาภิสังขาร อภิสังขารที่เป็นปฏิปักษ์ต่อบุญ คือ บาป
๓. อาเนญชาภิสังขาร อภิสังขารที่เป็นอเนญชา คือ กุศลเจตนาที่เป็นอรูปาวจร ๔; เรียกง่าย ๆ ได้แก่ บุญ บาป ฌาน

อภิสังขารมาร อภิสังขารเป็นมาร เพราะเป็นตัวปรุงแต่งกรรม ทำให้เกิดชาติชรา เป็นต้น ขัดขวางไม่ให้หลุดพ้นจากทุกข์ในสังสารวัฏฏ์ (ข้อ ๓ ในมาร ๕)

อมร, อมระ ผู้ไม่ตาย เป็นคำเรียกเทวดาผู้ได้ดื่มน้ำอมฤต

อมฤต เป็นชื่อน้ำทิพย์ที่ทำผู้ดื่มให้ไม่ตาย ตามเรื่องว่า เทวดาทั้งหลายคิดหาของเครื่องกันตาย พากันไปถามพระเป็นเจ้า พระเป็นเจ้ารับสั่งให้กวนมหาสมุทร เทวดาทั้งหลายก็ทำตามโดยวิธีใช้ภูเขารองข้างล่างลูกหนึ่งวางข้างบนลูกหนึ่ง ที่กลางมหาสมุทรลักษณะคล้ายโม่สำหรับโม่แป้ง เอานาคพันเข้าที่ภูเขาลูกบนแล้วช่วยกันชักสองข้าง อาศัยความร้อนที่เกิดจากความหมุนเวียนเบียดเสียดแห่งภูเขา ต้นไม้ทั้งหลายที่เป็นยาบนภูเขา ได้คายรสลงไปในมหาสมุทรจนข้นเป็นปลักแล้ว เกิดเป็นน้ำทิพย์ขึ้นในท่ามกลางมหาสมุทร เรียกว่า น้ำอมฤตบ้าง น้ำสุรามฤตบ้าง

อมฤตธรรม ธรรมที่ทำให้ไม่ตาย, ธรรมซึ่งเปรียบด้วยน้ำอมฤตอันทำผู้ดื่มให้ไม่ตาย หมายถึงพระนิพพาน

อมาตย์ ข้าราชการ, ข้าเฝ้า, ขุนนาง, มักเรียก อำมาตย์

อมาวสี ดิถีเป็นที่อยู่ร่วมแห่งพระอาทิตย์และพระจันทร์, วันพระจันทร์ดับ หรือวันดับ คือวันสิ้นเดือนทางจันทรคติ (แรม ๑๕ หรือ ๑๔ ค่ำ)




จีรัง กรุ๊ป    
Thailand Web Stat

 ธรรมะไทย