ค้นหาในเว็บไซต์ :

พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด อรรถ - อรหัตตผล

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


อรรถ - อรหัตตผล

อรรถ เนื้อความ, ใจความ, ความหมาย, ความมุ่งหมาย, ผล, ประโยชน์

อรรถ ๓ ดู อัตถะ

อรรถกถา ปกรณ์ที่พระอาจารย์ทั้งหลายในภายหลังแต่งแก้อรรถแห่งบาลีคัมภีร์ อธิบายความในพระไตรปิฎก

อรรถกถาจารย์ อาจารย์ผู้แต่งอรรถกถา

อรรถกถานัย เค้าความในอรรถกถา, แนวคำอธิบายในอรรถกถา, แง่แห่งความหมายที่แสดงไว้ในอรรถกถา

อรรถคดี เรื่องที่ฟ้องร้องกันในโรงศาล, ข้อที่กล่าวหากัน

อรรถรส “รสแห่งเนื้อความ”, รสแห่งความหมาย” สาระที่ต้องการของเนื้อความ, เนื้อแท้ของความหมาย, ความหมายแท้ที่ต้องการ, ความมุ่งหมายที่แทรกซึมอยู่ในเนื้อความ คล้ายกับที่มักพูดกันในบัดนี้ว่า เจตนารมณ์ (พจนานุกรมว่า ถ้อยคำที่ทำให้เกิดความซาบซึ้ง)

อรรถศาสน์ คำสอนว่าด้วยเรื่องประโยชน์ ๓ อย่าง คือ ๑. ทิฏฐธัมมิกัตถะ ประโยชน์ในปัจจุบัน ๒. สัมปรายิกัตถะ ประโยชน์ที่จะได้ในภายหน้า ๓. ปรมัตถะ ประโยชน์อย่างยิ่ง คือพระนิพพาน

อรหํ เป็นพระอรหันต์ คือ เป็นผู้ไกลจากกิเลสและบาปธรรม ทรงความบริสุทธิ์, หรือเป็นผู้กำจัดข้าศึกคือกิเลสสิ้นแล้ว, หรือเป็นผู้หักกรรมแห่งสังสารจักร อันได้แก่ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม, หรือเป็นผู้ควรแนะนำสั่งสอน เป็นผู้ควรรับความเคารพควรแก่ทักษิณา และการบูชาพิเศษ, หรือเป็นผู้ไม่มีข้อลับ คือไม่มีข้อเสียหายอันควรปกปิด (ข้อ ๑ ในพุทธคุณ ๙)

อรหัต ความเป็นพระอรหันต์, ชื่อมรรคผลชั้นสูงสุดในพระพุทธศาสนา ซึ่งตัดกิเลสในสันดานได้เด็ดขาด; เขียนอย่างคำเดิมเป็น อรหัตต์

อรหัตตผล ผลคือการสำเร็จเป็นพระอรหันต์, ผลคือความเป็นพระอรหันต์, ผลที่ได้รับจากการละสังโยชน์ทั้งหมด อันสืบเนื่องมาจากอรหัตตมรรค ทำให้เป็นพระอรหันต์




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย