ค้นหาในเว็บไซต์ :

พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด อโหสิกรรม - อัคคัญญสูตร

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


อโหสิกรรม - อัคคัญญสูตร

อโหสิกรรม กรรมเลิกให้ผล ไม่มีผลอีกได้แก่กรรมทั้งที่เป็นกุศลและอกุศลที่เลิกให้ผล เหมือนพืชที่หมดยางเพาะปลูกไม่ขึ้นอีก (ข้อ ๔ ในกรรม ๑๒)

อักโกสวัตถุ เรื่องสำหรับด่า มี ๑๐ อย่าง คือ ๑. ชาติ ได้แก่ชั้นหรือกำเนิดของคน ๒. ชื่อ ๓. โคตร คือตระกูลหรือแซ่ ๔.การงาน ๕. ศิลปะ ๖. โรค ๗. รูปพรรณสัณฐาน ๘. กิเลส ๙. อาบัติ ๑๐. คำสบประมาทอย่างอื่นๆ

อักขระ ตัวหนังสือ, วิชาหนังสือ, คำ, เสียง, สระ และพยัญชนะ

อักขรวิธี ตำราว่าด้วยวิธีเขียนและอ่านหนังสือให้ถูกต้อง

อักษร ตัวหนังสือ

อัคคสาวก ดู อัครสาวก

อัคคัญญสูตร ชื่อสูตรที่ ๔ แห่งทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค พระสุตตันตปิฎก ทรงแสดงแก่สามเณรวาเสฏฐะ และสามเณรภารัทวาชะ ผู้ออกบวชจากตระกูลพราหมณ์ ทรงคัดค้านคำกล่าวอ้างของพวกพราหมณ์ที่ถือว่าพราหมณ์เป็นวรรณะประเสริฐที่สุด และถือว่าชาติกำเนิดเป็นเครื่องตัดสินความประเสริฐและความต่ำทรามของมนุษย์ ทรงแสดงให้เห็นว่าความประเสริฐหรือต่ำทรามนั้นอยู่ที่ความประพฤติ โดยมีธรรมเป็นเครื่องตัดสินคนวรรณะต่าง ๆ ออกบวชในพระพุทธศาสนาแล้ว ย่อมชื่อว่าเป็นผู้เกิดจากธรรมเสมอกันหมด

แล้วทรงแสดงความเป็นมาของสังคมมนุษย์ เริ่มแต่เกิดมีสัตว์ขึ้นในโลกแล้วเปลี่ยนแปลงตามลำดับจนเกิดมีมนุษย์ที่อยู่รวมกันเป็นหมู่เป็นพวก เกิดความจำเป็นต้องมีการปกครอง และมีการประกอบอาชีพการงานต่างๆ กัน วรรณะทั้งสี่ก็เกิดจากความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ มิใช่เป็นเรื่องของพรหมสร้างสรรค์ แต่เกิดจากธรรม (ธรรมดา, กฎธรรมชาติ) ทุกวรรณะประพฤติชั่วก็ไปอบายได้ปฏิบัติธรรมก็บรรลุนิพพานได้ ธรรมเป็นเครื่องตัดสิน และธรรมเป็นของประเสริฐสุด ผู้ที่สิ้นอาสวกิเลสแล้ว เป็นผู้ประเสริฐสุดในวรรณะทั้งสี่ ผู้ที่สมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะ เป็นผู้ประเสริฐสุดในบรรดาเทวะ และมนุษย์ทั้งปวง




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย