พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด อุโบสถ - อุปกะ

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


อุโบสถ - อุปกะ

อุโบสถ
1. การสวดปาฏิโมกข์ของพระสงฆ์ทุกกึ่งเดือน เป็นเครื่องซักซ้อมตรวจสอบความบริสุทธิ์ทางวินัยของภิกษุทั้งหลาย และทั้งเป็นเครื่องแสดงความพร้อมเพรียงของสงฆ์ด้วย อุโบสถมีชื่อเรียกย่อยออกไปหลายอย่าง การทำอุโบสถจะมีการสวดปาฏิโมกข์ได้ต่อเมื่อมีภิกษุครบองค์สงฆ์จตุรวรรคคือ ๔ รูปขึ้นไป ถ้าสงฆ์ครบองค์กำหนดเช่นนี้ทำอุโบสถ เรียกว่า สังฆอุโบสถ แต่ถ้ามีภิกษุอยู่เพียง ๒ หรือ ๓ รูป เป็นเพียงคณะท่านให้บอกความบริสุทธิ์แก่กัน และกันแทนการสวดปาฏิโมกข์ เรียกอุโบสถนี้ว่า คณอุโบสถ หรือ ปาริสุทธิอุโบสถ ถ้ามีภิกษุอยู่ในวัดรูปเดียว ท่านให้ทำเพียงอธิษฐานคือตั้งใจกำหนดจิตว่าวันนี้เป็นอุโบสถของเรา (อชฺช เม อุโปสโถ) อุโบสถที่ทำอย่างนี้ เรียกว่า ปุคคลอุโบสถ หรือ อธิษฐานอุโบสถ;
อุโบสถที่ทำในวันแรม ๑๔ ค่ำ เรียกว่า จาตุทสิก ทำในวันขึ้นหรือแรม ๑๕ ค่ำ เรียกว่า ปัณณรสิก ทำในวันสามัคคี เรียกว่า สามัคคีอุโบสถ

2. การอยู่จำ, การรักษาศีล ๘ และบำเพ็ญข้อปฏิบัติอย่างอื่นที่สมควรมีฟังพระธรรมเทศนาเป็นต้นของคฤหัสถ์ ในวันขึ้นและแรม ๘ ค่ำ วันจันทร์เพ็ญและวันจันทร์ดับ

3. วันอุโบสถสำหรับพระสงฆ์ คือวันจันทร์เพ็ญ (ขึ้น ๑๕ ค่ำ) และวันจันทร์ดับ (แรม ๑๕ ค่ำ หรือ ๑๔ ค่ำ เมื่อเดือนขาด), สำหรับคฤหัสถ์ คือวันพระ ได้แก่ วันขึ้นและแรม ๘ ค่ำวันจันทร์เพ็ญ และวันจันทร์ดับ

4. สถานที่สงฆ์ทำสังฆกรรม
เรียกตามศัพท์ว่า อุโปสถาคารหรืออุโปสถัคคะ, ไทยมักตัดเรียกว่าโบสถ์

อุโบสถ (ขยายเฉพาะความหมายที่ 2.) อุโบสถ คือ การอยู่จำรักษาองค์ ๘ ที่โดยทั่วไปเรียกกันว่าศีล ๘ ของอุบาสก อุบาสิกา นั้น จำแนกได้เป็น ๓ ประเภท คือ
๑. ปกติอุโบสถ อุโบสถที่รักษาตามปกติชั่ววันหนึ่งกับคืนหนึ่ง ปัจจุบันนิยมรักษากันเฉพาะในวันขึ้นและแรม ๘ ค่ำ วันจันทร์เพ็ญ คือ ขึ้น ๑๕ ค่ำ และวันจันทร์ดับคือแรม ๑๕ หรือ ๑๔ ค่ำ (ปกติอุโบสถอย่างเต็ม มี ๘ วัน คือ วัน ๕ ค่ำ ๘ ค่ำ ๑๔ ค่ำ และ ๑๕ ค่ำ ของทุกปักษ์ ถ้าเดือนขาดรักษาในวันแรม ๑๓ ค่ำด้วย)

๒. ปฏิชาครอุโบสถ อุโบสถของผู้ตื่นอยู่ (คือผู้กระตือรือร้นขวนขวายในกุศล ไม่หลับใหลด้วยความประมาท) ได้แก่ อุโบสถที่รักษาครั้งหนึ่ง ๆ ถึง ๓ วัน คือ รักษาในวันอุโบสถตามปกติ พร้อมทั้งวันหน้าและวันหลังของวันนั้น ซึ่งเรียกว่า วันรับและวันส่งด้วย เช่น อุโบสถที่รักษาในวัน ๘ ค่ำ มีวัน ๗ ค่ำ เป็นวันรับ วัน ๙ ค่ำ เป็นวันส่ง (เดือนหนึ่งๆ จะมีวันรับและวันส่งรวม ๑๑ วัน, วันที่มิใช่วันอุโบสถ ในเดือนขาดมี ๑๐ วัน เดือนเต็ม ๑๑ วัน)

๓. ปาฏิหาริยอุโบสถ อุโบสถที่พึงนำไปคือให้เป็นไปตรงตามกำหนดเป็นประจำในแต่ละปี หมายความว่าในแต่ละปีมีช่วงเวลาที่กำหนดไว้เฉพาะที่จะรักษาอุโบสถประเภทนี้ อย่างสามัญ ได้แก่อุโบสถที่รักษาเป็นประจำตลอด ๓ เดือน ในพรรษา (อย่างเต็มได้แก่รักษาตลอด ๔ เดือน แห่งฤดูฝน คือ แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ถึง ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒, ถ้าไม่สามารถรักษาตลอด ๔ เดือน หรือ ๓ เดือน จะรักษาเพียง ๑ เดือน ระหว่างวันปวารณาทั้งสองคือ แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ก็ได้, อย่างต่ำสุดพึงรักษากึ่งเดือนต่อจากวันปวารณาแรกไปคือ แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึง แรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๑);

อย่างไรก็ตาม มติในส่วนรายละเอียดเกี่ยวกับอุโบสถ ๒ ประเภทหลังนี้ คัมภีร์ต่างๆ ยังแสดงไว้แตกต่างไม่ลงกันบ้าง ท่านว่าพอใจอย่างใด ก็พึงถือเอาอย่างนั้น เพราะแท้จริงแล้ว จะรักษาอุโบสถในวันใดๆ ก็ใช้ได้ เป็นประโยชน์ทั้งนั้น แต่ถ้ารักษาได้ในวันตามนิยมก็ย่อมควร

อุโบสถกรรม การทำ อุโบสถ 1.

อุโบสถศีล ศีลที่รักษาเป็นอุโบสถ หรือศีลที่รักษาในวันอุโบสถ ได้แก่ ศีล ๘ ที่อุบาสกอุบาสิกาสมาทานรักษาเป็นการจำศีลในวันพระ คือขึ้นและแรม ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ (แรม ๑๔ ค่ำในเดือนขาด)

อุปกะ ชื่ออาชีวกผู้หนึ่ง ซึ่งพบกับพระพุทธเจ้าในระหว่างทาง ขณะที่พระองค์เสด็จจากพระศรีมหาโพธิ์ไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เพื่อโปรดพระปัญจวัคคีย์




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย