ค้นหาในเว็บไซต์ :

พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด อุปปลวัณณา - อุปสมานุสติ

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


อุปปลวัณณา - อุปสมานุสติ

อุปปลวัณณา ดู อุบลวรรณา

อุปปัชชเวทนียกรรม กรรมให้ผลในภพที่จะไปเกิด คือ ในภพถัดไป (ข้อ ๒ ในกรรม ๑๒)

อุปปัตติเทพ เทวดาโดยกำเนิด ได้แก่พวกเทวดาในกามาพจรสวรรค์และพระพรหมทั้งหลาย (ข้อ ๒ ในเทพ ๓)

อุปปีฬกกรรม กรรมบีบคั้น ได้แก่ กรรมที่เป็นกุศลก็ดี อกุศลก็ดี ซึ่งบีบคั้นการให้ผลแห่งชนกกรรมและอุปัตถัมภกกรรม ที่ตรงข้ามกับตน ให้แปรเปลี่ยนไป เช่น ถ้าเป็นกรรมดีก็บีบคั้นให้อ่อนลง ไม่ให้รับผลเต็มที่ ถ้าเป็นกรรมชั่วก็เกียดกันให้ทุเลา (ข้อ ๗ ในกรรม ๑๒)

อุปมา ข้อความที่นำมาเปรียบเทียบ, การอ้างเอามาเปรียบเทียบ, ข้อเปรียบเทียบ

อุปมา ๓ ข้อ ข้อเปรียบเทียบ ๓ ประการ ที่ปรากฏแก่พระโพธิสัตว์ เมื่อจะทรงบำเพ็ญเพียร ที่ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม คือ
๑.ไม้สดชุ่มด้วยยาง ทั้งตั้งอยู่ในน้ำ จะเอามาสีให้เกิดไฟ ก็มีแต่จะเหนื่อยเปล่า ฉันใด สมณพราหมณ์ ที่มีกายยังไม่หลีกออกจากกาม ยังมีความพอใจหลงใหลกระหายกาม ละไม่ได้ ถึงจะได้เสวยทุกขเวทนาที่เผ็ดร้อนแรงกล้า อันเกิดจากความเพียรก็ตาม ไม่ได้เสวยก็ตาม ก็ไม่ควรที่จะตรัสรู้ ฉันนั้น
๒. ไม้สดชุ่มด้วยยาง ตั้งอยู่บนบกไกลจากน้ำ จะเอามาสีให้เกิดไฟ ก็มีแต่จะเหนื่อยเปล่า ฉันใด สมณพราหมณ์ที่มีกายหลีกออกแล้วจากกาม แต่ยังมีความพอใจหลงใหลกระหายกาม ละไม่ได้ ถึงจะได้เสวยทุกขเวทนาที่เผ็ดร้อนแรงกล้า อันเกิดจากความเพียรก็ตาม ไม่ได้เสวยก็ตาม ก็ไม่ควรที่จะตรัสรู้ ฉันนั้น
๓. ไม้แห้งเกราะ ทั้งตั้งอยู่บนบกไกลจากน้ำ จะเอามาสีให้เกิดไฟย่อมทำไฟให้ปรากฏได้ ฉันใด สมณพราหมณ์ที่มีกายหลีกออกแล้วจากกาม ไม่มีความพอใจหลงใหลกระหายกาม ละกามได้แล้ว ถึงจะได้เสวยทุกขเวทนาที่เผ็ดร้อนแรงกล้า อันเกิดจากความเพียร ก็ตาม ไม่ได้เสวยก็ตาม ก็ควรที่จะตรัสรู้ ฉันนั้น

เมื่อได้ทรงพระดำริดังนี้แล้ว พระโพธิสัตว์ จึงได้ทรงเริ่มบำเพ็ญทุกรกิริยา ดังเรื่องที่มาในพระสูตรเป็นอันมาก มีโพธิราชกุมารสูตร เป็นต้น แต่มักเข้าใจกันผิดไปว่า อุปมา ๓ ข้อ นี้ปรากฏแก่พระโพธิสัตว์หลังจากทรงเลิกละการบำเพ็ญทุกรกิริยา

อุปไมย ข้อความที่ควรจะนำสิ่งอื่นมาเปรียบเทียบ, สิ่งที่ควรจะหาสิ่งอื่นมาเปรียบเทียบ, สิ่งที่ถูกเปรียบเทียบ

อุปริมทิส ทิศเบื้องบน หมายถึงสมณพราหมณ์ ดู ทิศหก

อุปวาณะ พระมหาสาวกองค์หนึ่งเกิดในตระกูลพราหมณ์ผู้มั่งคั่ง ในนครสาวัตถี ได้เห็นพระพุทธองค์ในพิธีถวายวัดพระเชตวัน เกิดความเลื่อมใส จึงได้มาบวชในพระศาสนาและได้บรรลุอรหัตตผล ท่านเคยเป็นอุปัฏฐากของพระพุทธองค์ แม้ในวันปรินิพพาน พระอุปวาณะก็ถวายงานพัดอยู่เฉพาะพระพักตร์ เรื่องราวเกี่ยวกับท่านปรากฏในพระไตรปิฎก ๔-๕ แห่ง เช่น เรื่องที่ท่านสนทนากับพระสารีบุตรเกี่ยวกับโพชฌงค์ ๗ ประการ เป็นต้น

อุปสมะ ความสงบใจจากสิ่งที่เป็นข้าศึกแก่ความสงบ, การทำใจให้สงบ, สภาวะอันเป็นที่สงบ คือ นิพพาน (ข้อ ๔ ในอธิษฐานธรรม ๔)

อุปสมบท การให้กุลบุตรบวชเป็นภิกษุหรือให้กุลธิดาบวชเป็นภิกษุณี, การบวชเป็นภิกษุ หรือภิกษุณี ดู อุปสัมปทา

อุปสมานุสติ ระลึกถึงคุณพระนิพพานซึ่งเป็นที่ระงับกิเลสและกองทุกข์ (ข้อ ๑๐ ในอนุสติ ๑๐)




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย