อุปสัมปทาเปกขา - อุปัชฌายวัตร
อุปสัมปทาเปกขา
หญิงผู้เพ่งอุปสัมปทาคือผู้ขอบวชเป็นภิกษุณี
อุปสีวมาณพ ศิษย์คนหนึ่งในจำนวน
๑๖ คน ของพราหมณ์พาวรี ที่ไปทูลถามปัญหากะพระศาสดา ที่ปาสาณเจดีย์
อุปเสน วังคันตบุตร พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เป็นบุตรพราหมณ์ชื่อ วังคันตะ มารดาชื่อนางสารี เป็นน้องชายของพระสารีบุตร เกิดที่หมู่บ้านนาลกะ เติบโตขึ้น เรียนไตรเพทจบแล้วต่อมาได้ฟังธรรม มีความเลื่อมใส จึงบวชในพระพุทธศาสนา หลังจากบวชได้ ๒ พรรษา จึงได้สำเร็จพระอรหัต ท่านออกบวชจากตระกูลใหญ่ มีคนรู้จักมากและทั้งเป็นนักเทศก์ที่สามารถ จึงมีกุลบุตรเลื่อมใสมาขอบวชด้วยเป็นจำนวนมาก ตัวท่านเองเป็นผู้ถือธุดงค์และสอนให้สัทธิวิหาริกถือธุดงค์ด้วย ปรากฏว่าทั้งตัวท่านและบริษัทของท่านเป็นที่เลื่อมใสของคนทั่วไปหมด จึงได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางทำให้เกิดความเลื่อมใสทั่วทุกด้าน (คือไม่เฉพาะตนเองน่าเลื่อมใส แม้คณะศิษย์ก็น่าเลื่อมใสไปหมด)
อุปหัจจปรินิพพายี พระอนาคามีผู้จะปรินิพพานต่อเมื่ออายุพ้นกึ่งแล้ว คือจะปรินิพพาน เมื่อใกล้จะสิ้นอายุ (ข้อ ๒ ใน อนาคามี ๕)
อุปัชฌาย์, อุปัชฌายะ “ผู้เพ่งโทษน้อยใหญ่” หมายถึงผู้รับรองกุลบุตรเข้ารับการอุปสมบทในท่ามกลางภิกษุสงฆ์, เป็นทั้งผู้นำเข้าหมู่ และเป็นผู้ปกครองคอยดูแลผิดและชอบ ทำหน้าที่ฝึกสอนอบรมให้การศึกษาต่อไป; อุปัชฌาย์ในฝ่ายภิกษุณี เรียกว่า ปวัตตินี
อุปัชฌายมัตต์ ภิกษุผู้พอจะเป็นอุปัชฌาย์ได้ คือมีพรรษาครบ ๑๐, พระปูนอุปัชฌาย์
อุปัชฌายวัตร ธรรมเนียมหรือข้อปฏิบัติที่สัทธิวิหาริก พึงกระทำต่ออุปัชฌาย์ของตน, หน้าที่ต่ออุปัชฌาย์โดยย่อคือ เอาใจใส่ปรนนิบัติรับใช้ คอยศึกษาเล่าเรียนจากท่าน ขวนขวายป้องกันหรือระงับความเสื่อมเสีย เช่นความคิดจะสึก ความเห็นผิด เป็นต้น รักษาน้ำใจของท่าน มีความเคารพจะไปไหนบอกลาไม่เที่ยวตามอำเภอใจ และเอาใจใส่พยาบาลเมื่อท่านอาพาธ เทียบ สัทธิวิหาริกวัตร