ค้นหาในเว็บไซต์ :

พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด อุรุเวลา - เอกเทศ

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


อุรุเวลา - เอกเทศ

อุรุเวลา ชื่อตำบลใหญ่แห่งหนึ่ง ในแคว้นมคธ ตั้งอยู่ ณ ลุ่มแม่น้ำเนรัญชรา เป็นภูมิสถานที่สงบน่ารื่นรมย์ พระมหาบุรุษทรงเลือกเป็นที่บำเพ็ญเพียร ได้ประทับอยู่ ณ ที่นี้นานถึง ๖ ปี ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา และเปลี่ยนมาทรงดำเนินในมัชฌิมาปฏิปทา จนได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ภายใต้ร่วมพระศรีมหาโพธิ์ ณ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ในตำบลนี้

อุสสาวนันติกา กัปปิยภูมิที่ทำด้วยการประกาศ ได้แก่ กุฎีที่ภิกษุทั้งหลายตกลงกันแต่ต้นว่าจะทำเป็นกัปปิยกุฎีในเวลาที่ทำ พอช่วยกันยกเสาหรือตั้งฝาทีแรก ก็ร้องประกาศให้รู้กันว่า “กปฺปิยกุฎึกโรม” ๓ หน (แปลว่าเราทั้งหลายทำกัปปิยกุฎี); ดู กัปปิยภูมิ

อุสีรธชะ ภูเขาที่กั้นอาณาเขตของมัชฌิมชนบทด้านเหนือ

อูเน คเณ จรณํ การประพฤติ (วัตร) ในคณะอันพร่อง คือ ประพฤติในถิ่น เช่น อาวาส ที่มีปกตัตตภิกษุไม่ครบองค์สงฆ์ คือไม่ถึง ๔ รูป แต่ที่นิยมปฏิบัติกันมาไม่ต่ำกว่า ๕ รูป; เป็นเหตุอย่างหนึ่งของรัตติเฉทแห่งมานัตต์ ดู รัตติเฉท

อูรุ ขาอ่อน, โคนขา

เอกฉันท์ มีความพอใจอย่างเดียวกัน, เห็นเป็นอย่างเดียวกันหมด

เอกเทศ ภาคหนึ่ง, ส่วนหนึ่ง, เป็นส่วนหนึ่งต่างหาก




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย