โอกกากราช - โอธานสโมธาน
โอกกากราช กษัตริย์ผู้เป็นต้นสกุลของศากยวงศ์
โอกาส ช่อง, ที่ว่าง, ทาง, เวลาที่เหมาะ, จังหวะ; ในวิธีระงับอนุวาทาธิกรณ์ มีระเบียบว่า ก่อนจะกล่าวคำโจทนาคือคำฟ้องขึ้นต่อหน้าสงฆ์ โจทก์พึงขอโอกาสต่อจำเลย
คำขอโอกาสว่า “กโรตุ เม อายสฺมา โอกาสํ, อหนฺตํ วตฺตุกาโม” แปลว่า “ขอท่านจงทำโอกาสแก่ข้าพเจ้า ๆ ใคร่จะกล่าวกะท่าน”
ถ้าโจทโดยไม่ขอโอกาส ต้องอาบัติทุกกฎ คำให้โอกาส ท่านไม่ได้แสดงไว้ อาจใช้ว่า
“กโรมิ อายสฺมโต โอกาสํ” แปลว่า “ข้าพเจ้าทำโอกาสแก่ท่าน”;
ภิกษุพร้อมด้วยองค์ ๕ แม้จะขอให้ทำโอกาสก็ไม่ควรทำ (คือไม่ควรให้โอกาส) กล่าวคือ เป็นผู้มีความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์ มีความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์ มีอาชีวะไม่บริสุทธิ์ เป็นผู้เขลา ถูกซักเข้า ไม่อาจให้คำตอบข้อที่ซัก, องค์ ๕ อีกหมวดหนึ่งว่า เป็นอลัชชีเป็นพาลมิใช่ปกตัตตะ กล่าวด้วยปรารถนาจะกำจัด มิใช่เป็นผู้มีความปรารถนาในอันให้ออกจากอาบัติ
โอกาสโลก โลกอันกำหนดด้วยโอกาส, โลกอันมีในอวกาศ, โลกซึ่งเป็นโอกาสแก่สัตว์ทั้งหลายที่จะอยู่อาศัย, โลกคือแผ่นดินอันเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ทั้งหลาย, จักรวาฬ (ข้อ ๓ ในโลก ๓)
โอฆะ ห้วงน้ำคือสงสาร, ห้วงน้ำคือการเวียนว่ายตายเกิด, กิเลสอันเป็นดุจกระแสน้ำหลากท่วมใจสัตว์มี ๔ คือ กาม ภพ ทิฏฐิ อวิชชา
โอตตัปปะ ความกลัวบาป, ความเกรงกลัวต่อทุจริต, ความเกรงกลัวความชั่วเหมือนกลัวอสรพิษ ไม่อยากเข้าใกล้ พยายามหลีกให้ห่างไกล (ข้อ ๒ ในธรรมคุ้มครองโลก ๒, ข้อ ๔ ในอริยทรัพย์ ๗, ข้อ ๓ ในสัทธรรม ๗)
โอธานสโมธาน ชื่อปริวาสประเภทสโมธานปริวาสอย่างหนึ่ง ใช้สำหรับอาบัติสังฆาทิเสสที่ต้องหลายคราว แต่มีจำนวนวันที่ปิดไว้เท่ากัน เช่น ต้องอาบัติ ๒ คราว ปิดไว้คราวละ ๕ วัน ให้ขอปริวาสรวมอาบัติและราตรีเข้าด้วยกันเพื่ออยู่เพียง ๕ วันเท่านั้น, (แต่ตามนัยอรรถกถาท่านแก้ว่า . สำหรับอันตราบัติมีวันปิดที่ประมวลเข้ากับอาบัติเดิม)
ดู สโมธานปริวาส