พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด งมงาย - จริต

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


งมงาย - จริต

งมงาย ไม่รู้เท่า, ไม่เข้าใจ, เซ่อเซอะ, หลงเชื่อโดยไม่มีเหตุผล หรือโดยไม่ยอมรับฟังผู้อื่น

จงกรม เดินไปมาโดยมีสติกำกับ

จตุกกะ หมวด ๔

จตุกกัชฌาน ฌานหมวด ๔ คือ รูปฌานที่แบ่งเป็น ๔ ขั้น อย่างที่รู้จักกันทั่วไป ดู ฌาน ๔ เทียบ ปัญจกัชฌาน

จตุตถฌาน ฌานที่ ๔ มีองค์ ๒ ละสุขเสียได้ มีแต่อุเบกขากับเอกัคคตา

จตุธาตุววัตถาน การกำหนดธาตุ ๔ คือ พิจารณาร่างกายนี้ แยกแยะออกไปมองเห็นแต่ส่วนประกอบต่าง ๆ ที่จัดเข้าในธาตุ ๔ คือ ปฐวี อาโป เตโช วาโย ทำให้รู้ภาวะความเป็นจริงของร่างกายว่าเป็นแต่เพียงธาตุ ๔ ประชุมกันเข้าเท่านั้น ไม่เป็นตัวสัตว์บุคคลที่แท้จริง

จตุบริษัท บริษัทสี่เหล่า คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา

จตุปัจจัย เครื่องอาศัยของชีวิต หรือสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิต สี่อย่าง คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานเภสัช (เครื่องนุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่ ยา)

จตุรงคินีเสนา กองทัพมีกำลังสี่เหล่า คือ เหล่าช้าง เหล่าม้า เหล่ารถ เหล่าราบ

จตุรบท สัตว์สี่เท้า มี ช้าง ม้า วัว ควาย เป็นต้น

จตุรพิธพร พร ๔ ประการ คือ อายุ (ความมีอายุยืน) วรรณะ (ความมีผิวพรรณผ่องใส) สุขะ (ความสุขกายสุขใจ) พละ (ความมีกำลังแข็งแรง มีสุขภาพดี)

จตุรวรรค, จตุวรรค สงฆ์พวกสี่, สงฆ์ที่กำหนดจำนวนภิกษุอย่างต่ำเพียง ๔ รูป เช่น สงฆ์ที่ทำอุโบสถกรรมเป็นต้น

จตุราริยสัจจ์ อริยสัจจ์สี่ประการ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ดู อริยสัจจ์

จรณะ เครื่องดำเนิน, ปฏิปทา คือ ข้อ ปฏิบัติอันเป็นทางบรรลุวิชา มี ๑๕ คือ สีลสัมปทา ความถึงพร้อมด้วยศีล อปัณณกปฏิปทา ๓ สัทธรรม ๗ และ ฌาน ๔

จริต ความประพฤติ, พื้นนิสัย หรือพื้นเพแห่งจิตของคนทั้งหลายที่หนักไปด้านใดด้านหนึ่ง แตกต่างกันไปคือ
๑. ราคจริต ผู้มีราคะเป็นความประพฤติปกติ (หนักไปทางรักสวยรักงาม มักติดใจ)
๒. โทสจริต ผู้มีโทสะเป็นความประพฤติปกติ (หนักไปทางใจร้อนขี้หงุดหงิด)
๓. โมหจริต ผู้มีโมหะเป็นความประพฤติปกติ (หนักไปทางเหงาซึมงมงาย)
๔. สัทธาจริต ผู้มีศรัทธาเป็นความประพฤติปกติ (หนักไปทางน้อมใจเชื่อ)
๕. พุทธิจริต ผู้มีความรู้เป็นความประพฤติปกติ (หนักไปทางคิดพิจารณา)
๖. วิตกจริต ผู้มีวิตกเป็นความประพฤติปกติ (หนักไปทางคิดจับจดฟุ้งซ่าน)




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย