พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด จักขุ - จักรวรรดิวัตร ๑๒

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


จักขุ - จักรวรรดิวัตร ๑๒

จักขุ ตา ของพระพุทธเจ้า มี ๕ คือ มังสจักขุ ทิพพจักขุ ปัญญาจักขุ พุทธจักขุ สมันตจักขุ (ดูที่คำนั้น ๆ)

จักขุวิญญาณ ความรู้ที่เกิดขึ้นเพราะรูปกระทบตา, รูปกระทบตา เกิดความรู้ขึ้น, การเห็น

จักขุสัมผัส อาการที่ตา รูป และจักขุวิญญาณประจวบกัน

จักขุสัมผัสสชาเวทนา เวทนาที่เกิดขึ้นเพราะจักขุสัมผัส, ความรู้สึกที่เกิดขึ้นเพราะการที่ ตา รูป และจักขุวิญญาณประจวบกัน

จักร ล้อ, ล้อรถ, ธรรมนำชีวิตไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง ดุจล้อนำรถไปสู่ที่หมายมี ๔ อย่างคือ
๑. ปฏิรูปเทสวาสะ อยู่ในถิ่นที่เหมาะ
๒. สัปปุริสูปัสสยะ สมาคมกับคนดี
๓. อัตตสัมมาปณิธิ ตั้งตนไว้ชอบ
๔. ปุพเพกตปุญญตา ได้ทำความดีไว้ก่อน

จักรธรรม ธรรมเปรียบด้วยล้อรถ ซึ่งจะนำไปสู่ความเจริญ หรือให้ถึงจุดมุ่งหมายมี ๔ อย่าง ดู จักร

จักรพรรดิ พระราชาธิราช หมายถึงพระราชาผู้ยิ่งใหญ่ มีราชอาณาเขตปกครองกว้างขวางมาก บ้านเมืองในปกครอง มีความร่มเย็น เป็นสุขปราบข้าศึกศัตรูด้วยธรรม ไม่ต้องใช้อาชญาและศัสตรา มีรัตนะ ๗ ประการประจำพระองค์ คือ ช้างแก้ว ม้าแก้ว นางแก้ว ขุนคลังแก้ว ขุนพลแก้ว จักรแก้ว แก้วมณี

จักรพรรดิราชสมบัติ สมบัติ คือความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ, ความพรั่งพร้อมสมบูรณ์แห่งพระเจ้าจักรพรรดิ

จักรรัตนะ จักรแก้ว หมายถึงตัวอำนาจแห่งพระเจ้าจักรพรรดิ

จักรวรรดิวัตร ๑๒ ๑. อนฺโตชนสฺมึ พลกายสฺมึ คุ้มครองสงเคราะห์แก่ชนในพระราชฐานและพยุหเสนา
๒.ขตฺติเยสุ แก่กษัตริย์เมืองขึ้นหรือผู้ครองนครภายใต้พระบรมเดชานุภาพ
๓. อนุยนฺเตสุแก่กษัตริย์ที่ตามเสด็จคือ เหล่าเชื้อพระวงศ์ผู้เป็นราชบริพาร
๔. พฺราหฺมณคหปติเกสุ แก่พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย
๕. เนคมชานปเทสุ แก่ชาวนิคมและชาวชนบทคือ ราษฎรพื้นเมืองทั้งหลาย
๖. สมณพฺราหฺมเณสุ แก่เหล่าสมณพราหมณ์
๗. มิคปกฺขีสุ แก่เหล่าเนื้อนกอันพึงบำรุงไว้ให้มีสืบพันธุ์
๘. อธมฺมการปฏิกฺเขโป ห้ามปรามมิให้มีความประพฤติการอันไม่เป็นธรรม
๙. อธนานํ ธนานุปฺปทานํ เจือจานทรัพย์ทำนุบำรุงแก่ผู้ขัดสนไร้ทรัพย์
๑๐. สมณพฺราหฺมเณ อุปสงฺกมิตฺวา ปญฺหาปุจฺฉนํ ไปสู่หาสมณพราหมณ์ไต่ถาม อรรถปฤษณา
๑๑. อธมฺมราคสฺส ปหานํ เว้นความกำหนัดในกามโดยอาการไม่เป็นธรรม
๑๒. วิสมโลภสฺส ปหานํ เว้นโลภกล้า ไม่เลือกควรไม่ควร
จักรวรรดิวัตร ๑๒ นี้ มาในอรรถกถา โดยแบ่งซอยและเพิ่มเติมจากของเดิมใน จักกวัตติสูตร




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย