ปปัญจะ - ปรมัตถประโยชน์
ปปัญจะ กิเลสเครื่องเนิ่นช้า, กิเลสที่ทำให้คิดปรุงแต่งยืดเยื้อพิสดาร หมายถึงตัณหา มานะ ทิฏฐิ
ปปัญจสูทนี ชื่อคัมภีร์อรรถกถาที่อธิบายความในมัชฌิมนิกาย แห่งพระสุตตันตปิฎก พระพุทธโฆษาจารย์เรียบเรียงจากอรรถกถาภาษาสิงหฬ เมื่อ พ.ศ. ใกล้จะถึง ๑๐๐๐
ปมาณิกา ดู ประมาณ
ปมาทะ ความประมาท, ความเลินเล่อ, ความเผลอ, ความขาดสติ, ความปล่อยปละละเลย เทียบ อัปปมาทะ
ปมิตา เจ้าหญิงองค์หนึ่งในวงศ์ศากยะเป็นพระราชบุตรีของพระเจ้าสีหหนุเป็นพระเชฏฐภคินีของพระนางอมิตาเป็นพระเจ้าอาของพระพุทธเจ้า
ปรทาริกกรรม การประพฤติล่วงเมียคนอื่น, การเป็นชู้เมียเขา
ปรนปรือ บำรุงเลี้ยง, เลี้ยงดูอย่างถึงขนาด
ปรนิมมิตวสวัตดี สวรรค์ชั้นที่ ๖ มีท้าวปรมินมิตวสวัตดีปกครอง เทวดาชั้นนี้ปรารถนาสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่ต้องนิรมิตเอง มีเทวดาอื่นนิรมิตให้อีกต่อหนึ่ง
ปรภพ ภพหน้า, โลกหน้า
ปรมัตถ์ ๑. ประโยชน์อย่างยิ่ง คือ พระนิพพาน ๒. ความหมายสูงสุด, ความหมายที่แท้จริง เช่น ในคำว่า ปรมัตถธรรม
ปรมัตถธรรม สภาวะที่มีอยู่โดยปรมัตถ์, สิ่งที่เป็นจริงโดยความหมายสูงสุดตามหลักอภิธรรมว่ามี ๔ คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน
ปรมัตถบารมี บารมียอดเยี่ยม, บารมีระดับสูงสุด สูงกว่าอุปบารมี เช่นการสละชีวิต เป็นทานปรมัตบารมี เป็นต้น
ปรมัตถปฏิปทา ข้อปฏิบัติมีประโยชน์อันยิ่ง, ทางดำเนินให้ถึงปรมัตถ์, ข้อปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงประโยชน์สูงสุดคือ บรรลุนิพพาน
ปรมัตถประโยชน์ ประโยชน์อย่างยิ่ง คือ พระนิพพาน; เป็นคำเรียกกันมา ติดปาก ความจริงคือ ปรมัตถะ แปลว่า ประโยชน์อย่างยิ่ง เหมือนทิฎฐธัมมิกัตตถะ แปลว่าประโยชน์ปัจจุบัน และสัมปรายิกัตถะ แปลว่าประโยชน์เบื้องหน้า ก็มักเรียกกันว่า ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์และสัมปรายิกัตถประโยชน์