ค้นหาในเว็บไซต์ :

พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด ภควา - ภพหลัง

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


ภยตูปัฏฐานญาณ - ภังคญาณ

ภยตูปัฏฐานญาณ ปรีชาหยั่งเห็นสังขาร ปรากฏโดยอาการเป็นของน่ากลัว เพราะสังขารทั้งปวงนั้นล้วนแต่จะต้องแตกสลายไป ไม่ปลอดภัยทั้งสิ้น (ข้อ ๓ ในวิปัสสนาญาณ ๙)

ภยันตราย ภัยและอันตราย, อันตรายที่น่ากลัว

ภยาคติ ลำเอียงเพราะกลัว (ข้อ ๔ ในอคติ ๔)

ภวตัณหา ความอยากเป็นนั่นเป็นนี่หรืออยากเกิดอยากมีอยู่คงอยู่ตลอดไป, ความทะยานอยากที่ประกอบด้วยภวทิฏฐิ หรือสัสสตทิฏฐิ (ข้อ ๒ ในตัณหา ๓)

ภวทิฏฐิ ความเห็นเนื่องด้วยภพ, ความเห็นว่าอัตตาและโลกจักมีอยู่คงอยู่เที่ยงแท้ตลอดไป เป็นพวกสัสสตทิฏฐิ

ภวังค์ ดู ภวังคจิต

ภวังคจิต จิตที่เป็นองค์แห่งภพ, ตามหลักอภิธรรมว่า จิตที่เป็นพื้นอยู่ระหว่างปฏิสนธิและจุติ คือ ตั้งแต่เกิดจนถึงตาย ในเวลาที่มิได้เสวยอารมณ์ทางทวารทั้ง ๖ มีจักขุทวารเป็นต้น แต่เมื่อใดมีการรับรู้อารมณ์ เช่น เกิดการเห็น การได้ยินเป็นต้น ก็เกิดเป็นวิถีจิตขึ้นแทนภวังคจิต เมื่อวิถีจิตดับหมดไป ก็เกิดเป็นภวังคจิตขึ้นอย่างเดิม

ภวาสวะ อาสวะ คือภพ, กิเลสที่หมักหมมหรือดองอยู่ในสันดาน ทำให้อยากเป็นอยากเกิดอยากมีอยู่คงอยู่ตลอดไป (ข้อ ๒ ในอาสวะ ๓ และ ๔)

ภักษา, ภักษาหาร เหยื่อ, อาหาร

ภัคคะ ชื่อแคว้นหนึ่งในชมพูทวีปครั้งพุทธกาล นครหลวงชื่อ สุงสุมารคีระ

ภัคคุ เจ้าศากยะองค์หนึ่ง ที่ออกบวชพร้อมกับพระอนุรุทธะ ได้บรรลุพระอรหัต และเป็นพระมหาสาวกองค์หนึ่ง เขียน ภคุ ก็มี

ภังคะ ผ้าทำด้วยของเจือกัน คือ ผ้าทำด้วยเปลือกไม้ฝ้ายไหม ขนสัตว์ เปลือกป่าน ๕ อย่างนี้ อย่างใดก็ได้ปนกัน เช่น ผ้าด้ายแกมไหม เป็นต้น

ภังคญาณ ปัญญาหยั่งเห็นความย่อยยับคือ เห็นความดับแห่งสังขาร ภังคานุปัสสนาญาณ ก็เรียก




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย