ภัตตุเทศก์ - ภัททา กุณฑลเกสา
ภัตตุเทศก์ ดู ภัตตุทเทสกะ
ภัตร ดู ภัต
ภัททกาปิลานี พระมหาสาวิกาองค์หนึ่ง เป็นธิดาพราหมณ์โกสิยโคตรในสาคลนครแห่งมัททรัฐ (คัมภีร์อปทานว่าไว้ชัด ดังนี้ แต่อรรถกถาอังคุตตรนิกายคลาดเคลื่อนเป็นแคว้นมคธ) พออายุ ๑๖ ปี ได้สมรสกับปิปผลิมาณพ (พระมหากัสสปะ) ต่อมามีความเบื่อหน่ายในฆราวาส จึงออกบวชเป็นปริพาชิกา เมื่อพระมหาปชาบดีผนวชเป็นภิกษุณีแล้ว
นางได้มาบวชอยู่ในสำนักของพระมหาปชาบดี เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานด้วยความไม่ประมาท ได้บรรลุพระอรหัต ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางปุพเพนิวาสนานุสสติ เรียกภัททากาปิลานี บ้าง ภัททากปิลานีบ้าง
ภัททปทมาส เดือน ๑๐ เรียกง่ายว่าภัทรบท
ภัททวัคคีย์ พวกเจริญ, เป็นชื่อคณะสหาย ๓๐ คนที่พากันเข้ามาในไร่ฝ้ายแห่งหนึ่งเพื่อเที่ยวตามหาหญิงแพศยาผู้ลักห่อเครื่องประดับหนีไป และได้พบพระพุทธเจ้าซึ่งพอดีเสด็จแวะเข้าไปประทับพักอยู่ที่ไร่ฝ้ายนั้น ได้ฟังเทศนาอุปุพพีกถา และอริยสัจ ๔ ได้ดวงตาเห็นธรรมแล้วขออุปสมบท
ภัททา กัจจานา พระมหาสาวิกาองค์หนึ่ง เป็นธิดาของพระเจ้าสุปปพุทธะแห่งโกลิยวงศ์ พระนามเดิมว่า ยโสธรา หรือ พิมพา เป็นพระมารดาของพระราหุลพุทธชิโนรส ได้นามว่า ภัททากัจจานา เพราะทรงมีฉวีวรรณดุจทองคำเนื้อเกลี้ยง บวชเป็นภิกษุณีในพระพุทธศาสนาเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ไม่ช้าก็ได้สำเร็จพระอรหัตได้รับยกย่องว่า เป็นเอตทัคคะในทางบรรลุมหาภิญญา เรียกภัททกัจจานา ก็มี
ภัททา กุณฑลเกสา มหาสาวิกาองค์หนึ่ง เป็นธิดาของเศรษฐีในพระนครราชคฤห์ เคยเป็นภรรยาโจรผู้เป็นนักโทษประหารชีวิต โจรคิดจะฆ่านางเพื่อเอาทรัพย์สมบัติ แต่นางใช้ปัญญาคิดแก้ไขกำจัดโจรได้ แล้วบวชในสำนักนิครนถ์ ต่อมาได้พบกับพระสารีบุตร ได้ถามปัญหากันและกัน จนนางมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ต่อมาได้ฟังพระธรรมเทศนาที่พระศาสดาทรงแสดงได้สำเร็จพระอรหัต แล้วบวชในสำนักนางภิกษุณี ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางขิปปาภิญญา คือ ตรัสรู้ฉับพลัน