ค้นหาในเว็บไซต์ :

พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด เภทนกปาจิตตีย์ - โภชนวรรค

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


เภทนกปาจิตตีย์ - โภชนวรรค

เภทนกปาจิตตีย์ อาบัติปาจิตตีย์ที่ต้องทำลายสิ่งของที่เป็นเหตุให้ต้องอาบัติเสียก่อน จึงแสดงอาบัติได้ ได้แก่ สิกขาบทที่ ๔ แห่งตนวรรคที่ ๙ แห่งปาจิตติยกัณฑ์ (ปาจิตตีย์ ข้อที่ ๘๖ ทำกล่องเข็มด้วยกระดูก งา หรือเขาสัตว์)

เภริ, เภรี กลอง

เภสัช ยา, ยารักษาโรค, ยาแก้โรค เป็นอย่างหนึ่งในปัจจัย ๔, เภสัช ๕ ที่เป็นสัตตาหกาลิก รับไว้ฉันได้ตลอด ๗ วัน คือ ๑. สัปปิ เนยใส ๒. นวนีตะ เนยข้น ๓. เตละ น้ำมัน ๔. มธุ น้ำผึ้ง ๕. ผาณิต น้ำอ้อย; ส่วนยาแก้โรคที่ทำจากรากไม้ เปลือกไม้ ใบไม้ เป็นต้น จัดเป็นยาวชีวิก คือรับประเคนไว้แล้วเก็บไว้ฉันได้ตลอดชีวิต

เภสัชชขันธกะ ชื่อขันธกะที่ ๖ แห่งคัมภีร์มหาวรรควินัยปิฎก ว่าด้วยเรื่องเภสัชคือ ยาบำบัดโรค ตลอดจนเรื่องยาคูอุทิสสมังสะ กับปิยะอกัปปิยะ และกาลิก ๔

โภคอาทิยะ ประโยชน์ที่ควรถือเอาจากโภคทรัพย์มี ๕ คือ ๑. เลี้ยงตัว มารดา บิดา บุตร ภรรยา บ่าวไพร่ ให้เป็นสุข ๒. เลี้ยงเพื่อนฝูงให้เป็นสุข ๓. บำบัดป้องกันภยันตราย ๔. ทำ พลี ๕ อย่าง ๕. ทำทานในสมณพราหมณ์ผู้ประพฤติชอบ

โภชชยาคู ข้าวต้มสำหรับฉันให้อิ่ม เช่น ข้าวต้มหมู เป็นต้น มีคติอย่างเดียวกันกับอาหารหนัก เช่น ข้าวสวยต่างจากยาคูที่กล่าวถึงตามปกติในพระวินัย ซึ่งเป็นของเหลวใช้สำหรับดื่ม ภิกษารับนิมนต์ในที่แห่งหนึ่งไว้ฉันยาคูสามัญไปก่อนได้ แต่จะฉันโภชชยาคูไปก่อนไม่ได้ ดู ยาคู

โภชนะ ของมัน, ของกิน, โภชนทั้ง ๕ ได้แก่ ข้าวสุก ขนมสด ขนมแห้ง ปลา เนื้อ

โภชนปฏิสังยุต ธรรมเนียมที่เกี่ยวกับโภชนะ, ข้อที่ภิกษุสามเณรควรประพฤติปฏิบัติเที่ยวกับการรับบิณฑบาตและฉันอาหาร, เป็นหมวดที่ ๒ แห่งเสขิยวัตร มี ๓๐ สิกขาบท

โภชนวรรค หมวดที่ว่าด้วยเรื่องอาหารเป็นวรรคที่ ๔ แห่งปาจิตติยกัณฑ์ ในมหาวิภังค์ แห่งพระวินัยปิฎก




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย