บริวาร - บอกวัตร
บริวาร 1. ผู้แวดล้อม, ผู้ห้อมล้อมติดตาม, ผู้รับใช้ 2. สิ่งแวดล้อม, ของสมทบ, สิ่งประกอบร่วม เช่น ผ้าบริวาร บริวารกฐิน เป็นต้น 3. ชื่อคัมภีร์พระวินัยปิฎก หมวดสุดท้ายใน ๕ หมวด คือ
อาทิกัมม์ ปาจิตตีย์ มหาวรรค จุลวรรค บริวาร
บริษัท หมู่เหล่า, ที่ประชุม, คนรวมกัน, กลุ่มชน
บริษัท ๔ ชุมชนชาวพุทธ ๔ พวก คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา
บริสุทธ์, บริสุทธิ์ สะอาด, หมดจด, ปราศจากมลทิน, ผุดผ่อง; ครบถ้วน, ถูกต้องตามระเบียบอย่างบริบูรณ์
บริหาร ดูแล, รักษา, ปกครอง
บริหารคณะ ปกครองหมู่, ดูแลหมู่
บวงสรวง บูชา (สำหรับผีสางเทวดา)
บ่วงแห่งมาร ได้แก่ วัตถุกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่ารักใคร่น่าพอใจ
บวช การเว้นทั่ว คือเว้นความชั่วทุกอย่าง (ออกมาจากคำว่า ป + วช) หมายถึงการถือเพศเป็นนักพรตทั่วไป; บวชพระ คือบวชเป็นภิกษุเรียกว่า อุปสมบท, บวชเณร คือ บวชเป็นสามเณรเรียกว่า บรรพชา
บอก ในประโยคว่า “ภิกษุใด ไม่ได้รับบอกก่อน ก้าวล่วงธรณีเข้าไป” ไม่ได้รับบอก คือยังไม่ได้รับอนุญาต
บอกวัตร บอกข้อปฏิบัติในพระพุทธศาสนา เมื่อทำวัตรเย็นเสร็จแล้ว ภิกษุรูปเดียวเป็นผู้บอก อาจใช้วิธีหมุนเวียนกันไปทีละรูป ข้อความที่บอกว่าเป็นภาษาบาลี กล่าวถึงปฏิบัติบูชา คาถาโอวาทปาฎิโมกข์ คุณานิสงส์แห่งขันติธรรม คำเตือนให้ใส่ใจในธรรม ในเมื่อได้มีโอกาสเกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา ความไม่ประมาทเร่งเพียรพยายามในทางธรรมเพื่อน้อมไปสู่พระนิพพาน และพ้นจากทุคติ แล้วกล่าวถึงพุทธกิจประจำวัน ๕ ประการ ลำดับกาลในพระพุทธประวัติ สิ่งแทนพระองค์ภายหลังพุทธปรินิพพาน ชื่อวัน เดือน ปี และดาวนักษัตร ๒๗ จบลงด้วยคำเชื้อเชิญให้ตั้งอยู่ในพระพุทธโอวาท บำเพ็ญปฏิบัติบูชา เพื่อบรรลุสมบัติทั้งที่เป็นโลกียะ
และโลกุตตระ; ธรรมเนียมนี้ บัดนี้เลือนลางไปแล้ว