บุพกรณ์ - บุพเพนิวาสานุสติญาณ
บุพกรณ์ ธุระอันจะพึงทำในเบื้องต้น, งานที่จะต้องกระทำทีแรก, เรื่องที่ควรตระเตรียมให้เสร็จก่อน เช่น บุพกรณ์ของการทำอุโบสถ ได้แก่เมื่อถึงวันอุโบสถ พระเถระลงอุโบสถก่อน สั่งภิกษุให้ปัดกวาดโรงอุโบสถตามไฟ
ตั้งน้ำฉันน้ำใช้ ตั้งหรือปูลาดอาสนะไว้; บุพกรณ์แห่งการกรานกฐิน คือ ซักผ้า ๑ กะผ้า ๑ ตัดผ้า ๑ เนา หรือด้นผ้าที่ตัดแล้ว ๑ เย็บเป็นจีวร ๑ ย้อมจีวรที่เย็บแล้ว ๑ ทำกัปปะคือพินทุ ๑ ดังนี้เป็นต้น
บุพการี บุคคลผู้ทำอุปการะก่อน คือ ผู้มีพระคุณ ได้แก่ มารดาบิดา ครู อาจารย์ เป็นต้น (ข้อ ๑ ในบุคคลหาได้ยาก ๒)
บุพกิจ กิจอันจะพึงทำก่อน, กิจเบื้องต้น เช่น บุพกิจในการทำอุโบสถ ได้แก่ก่อนสวดปาฎิโมกข์ต้องนำปาริสุทธิของภิกษุอาพาธมาแจ้งให้สงฆ์ทราบ นำฉันทะของภิกษุอาพาธมา บอกฤดู นับภิกษุ ให้โอวาทนางภิกษุณี; บุพกิจแห่งการอุปสมบทมี การให้บรรพชา ขอนิสัย ถืออุปัชฌาย์ จนถึงสมมติภิกษุ ผู้สอบถามอันตรายิกธรรมกะอุปสัมปทาเปกขะ ท่ามกลางสงฆ์ ดังนี้เป็นต้น
บุพประโยค อาการหรือการทำความพยายามเบื้องต้น, การกระทำทีแรก
บุพเปตพลี บุญที่อุทิศให้แก่ญาติผู้ตายไปก่อน, การทำบุญอุทิศให้แก่ผู้ตาย
บุพพสิกขาวัณณนา หนังสืออธิบายพระวินัย พระอมราภิรักขิต (อมร เกิด) วัดบรมนิวาส เป็นผู้แต่ง
บุพพัณณะ ของที่ควรกินก่อน ได้แก่ข้าวทุกชนิดเช่น ข้าวสาลี ข้าวจ้าว ข้าวเหนียว ข้าวฟ่าง เป็นต้น; เทียบ
อปรัณณะ
บุพพัณหสมัย เวลาเบื้องต้นแห่งวัน, เวลาเช้า
บุพพาจารย์ 1. อาจารย์ก่อนๆ, อาจารย์รุ่นก่อน, อาจารย์ปางก่อน 2. อาจารย์ต้น, อาจารย์คนแรก คือ มารดาบิดา
บุพพาราม วัดที่นางวิสาขาสร้างถวายพระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์ที่กรุงสาวัตถี พระพุทธเจ้าประทับที่วัดนี้ รวมทั้งสิ้น ๖ พรรษา ดู วิสาขา
บุพเพนิวาสานุสติญาณ ความรู้เป็นเครื่องระลึกได้ถึงขันธ์ที่อาศัยอยู่ในก่อน, ระลึกชาติได้ ดู วิชชา, อภิญญา