ค้นหาในเว็บไซต์ :

พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด มกุฏพันธนเจดีย์ - มฆเทวะ

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


มกุฏพันธนเจดีย์ - มฆเทวะ

มกุฏพันธนเจดีย์ ที่ถวายพระเพลิง พระพุทธสรีระ อยู่ทิศตะวันออกของนครกุสินารา

มคธ 1. ชื่อแคว้นหนึ่งในบรรดา ๑๖ แคว้นใหญ่แห่งชมพูทวีปครั้งพุทธกาลตั้งอยู่ฝั่งใต้ของแม่น้ำคงคาตอนกลาง เป็นแคว้นที่มีอำนาจมากแข่งกับแคว้นโกศล และเป็นที่พระพุทธเจ้าทรงประดิษฐานพระพุทธศาสนา

ในสมัยพุทธกาล มคธมีนครหลวงชื่อ ราชคฤห์ ราชาผู้ปกครองพระนามว่าพิมพิสาร ตอนปลายพุทธกาลพระเจ้าพิมพิสาร ถูกโอรสชื่ออชาตศัตรูปลงพระชนม์และขึ้นครองราชย์สืบแทน ต่อมาในสมัยพระเจ้ากาลาโศก หรือก่อนนั้นเมืองหลวงของมคธ ย้ายไปตั้งที่เมืองปาฏลีบุตร บนฝั่งแม่น้ำคงคา เหนือเมืองราชคฤห์ขึ้นไป

มคธรุ่งเรืองถึงที่สุดในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ซึ่งแคว้นใหญ่อื่นทั้งหมดได้รวมเข้าอยู่ภายในมหาอาณาจักรของพระองค์ทั้งหมดแล้ว

บัดนี้ บริเวณที่เคยเป็นแคว้นมคธในสมัยพุทธกาล เรียกว่าแคว้นพิหาร

2. เรียกภาษาที่ใช้พูดในแคว้นมคธ หรือภาษาของชาวแคว้นมคธว่า ภาษามคธ และถือกันว่า ภาษาบาลีที่ใช้รักษาพระพุทธพจน์สืบมาจนบัดนี้ คือ ภาษามคธ

มคธชนบท แคว้นมคธ, ประเทศมคธ

มคธนาฬี ทะนานที่ใช้อยู่ในแคว้นมคธ, ทะนานชาวมคธ

มคธภาษา ภาษาของชนชาวมคธ, ภาษาของชนผู้อยู่ในแคว้นมคธ

มคธราช ราชาผู้ครองแคว้นมคธ, หมายถึงพระเจ้าพิมพิสาร

มฆเทวะ พระเจ้าแผ่นดินผู้ครองแคว้นวิเทหะพระองค์หนึ่ง สมัยก่อนพุทธกาลเรียก มขาเทวะ ก็มี




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย