ค้นหาในเว็บไซต์ :

พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด มโนภาวนีย์ - มรณสติ

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


มโนภาวนีย์ - มรณสติ

มโนภาวนีย์ ผู้เป็นที่เจริญใจ, ผู้ทำให้จิตใจของผู้นึกถึงเจริญงอกงาม หมายถึง บุคคลที่เมื่อเราระลึก คะนึง ใส่ใจถึง ก็ทำให้สบายใจ จิตใจสดชื่น ผ่องใส (ตามปกติ เป็นคุณสมบัติของพระภิกษุ)

มโนมยิทธิ ฤทธิ์ทางใจ คือนิรมิตกายอื่นออกจากกายนี้ได้ เหมือนชักดาบออกจากฝัก หรืองูออกจากคราบ (ข้อ ๒ ในวิชชา ๘)

มโนรถ ความประสงค์, ความหวัง

มโนรถปูรณี ชื่อคัมภีร์อรรถกถา อธิบายความในอังคุตตรนิกาย แห่งพระสุตันตปิฎก พระพุทธโฆษาจารย์เรียบเรียงจากอรรถกถาภาษาสิงหฬเมื่อ พ.ศ. ใกล้ถึง ๑๐๐๐

มโนรม, มโนรมย์ เป็นที่ชอบใจ, น่ารื่นรมย์ใจ, งาม

มโนวิญญาณ ความรู้ที่เกิดขึ้นเพราะธรรมารมณ์เกิดกับใจ, ธรรมเกิดกับใจ เกิดความรู้ขึ้น, ความรู้อารมณ์ทางใจ
ดู วิญญาณ

มโนสัญเจตนาหาร ความจงใจเป็นอาหาร เพราะเป็นปัจจัยให้เกิดกรรม คือ ทำให้พูดให้คิด ให้ทำการต่างๆ (ข้อ ๓ ในอาหาร ๔)

มโนสัมผัส อาการที่ใจ ธรรมารมณ์ และมโนวิญญาณประจวบกัน ดู สัมผัส

มโนสัมผัสสชาเวทนา เวทนาที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัส, ความรู้สึกที่เกิดขึ้นเพราะการที่ใจ ธรรมารมณ์และมโนวิญญาณประจวบกัน
ดู เวทนา
มโนสุจริต ความประพฤติชอบด้วยใจ, ความสุจริตทางใจมี ๓ อย่าง คือ ๑. อนภิชฌา ไม่โลภอยากได้ของเขา ๒. อพยาบาท ไม่พยาบาทปองร้ายเขา ๓. สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบตามคลองธรรม (ข้อ ๓ ในสุจริต ๓)

มรณะ ความตาย

มรณธรรม มีความตายเป็นธรรมดา, ธรรมคือความตาย

มรดก ทรัพย์สมบัติของผู้ตาย

มรณภัย ภัยคือความตาย, ความกลัวต่อความตาย

มรณสติ ระลึกถึงความตายอันจะต้องมีมาถึงตนเป็นธรรมดา พิจารณาให้ใจสงบจากอกุศลธรรม เกิดความไม่ประมาทและไม่หวาดกลัว คิดเร่งขวนขวายบำเพ็ญกิจและทำความดี (ข้อ ๗ ในอนุสติ ๑๐)




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย