ค้นหาในเว็บไซต์ :

พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด มหาวิโลกนะ - มหาสัจจกสูตร

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


มหาวิโลกนะ - มหาสัจจกสูตร

มหาวิโลกนะ “การตรวจดูอันยิ่งใหญ่”, ข้อตรวจสอบพิจารณาที่สำคัญ หมายถึงสิ่งที่พระโพธิสัตว์ทรงพิจารณาตรวจดูก่อนจะตัดสินพระทัยประทานปฏิญาณรับอาราธนาของเทพยดาทั้งหลายว่าจะจุติจากดุสิตเทวโลกไปบังเกิดในพระชาติสุดท้ายที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า มี ๕ อย่าง (นิยมเรียกว่า ปัญจมหาวิโลกนะ) คือ
๑. กาล คือ อายุกาลของมนุษย์จะต้องอยู่ระหว่าง ๑๐๐ ถึง ๑ แสนปี (ไม่สั้นกว่าร้อยปี ไม่ยาวเกินแสนปี)
๒. ทีปะ คือทวีปจะอุบัติแต่ในชมพูทวีป
๓. เทสะ คือประเทศ หมายถึงถิ่นแดน จะอุบัติในมัธยมประเทศ และทรงกำหนดเมืองกบิลพัสดุ์เป็นที่พึงบังเกิด
๔. กุละ คือตระกูล จะอุบัติเฉพาะในขัตติยสกุลหรือในพราหมณสกุล และทรงกำหนดว่าเวลานั้นโลกสมมติว่าตระกูลกษัตริย์ประเสริฐกว่าตระกูลพราหมณ์ จึงจะอุบัติในตระกูลกษัตริย์ โดยทรงเลือกพระเจ้าสุทโธทนะเป็นพุทธบิดา
๕. ชเนตติอายุปริจเฉท คือมารดา และกำหนดอายุของมารดา มารดาจะต้องมีศีลห้าบริสุทธิ์ ไม่โลเลในบุรุษ ไม่เป็นนักดื่มสุรา ได้บำเพ็ญบารมีมาตลอดแสนกัลป์ ทรงกำหนดได้พระนางมหามายา และทรงทราบว่าพระนางจะมีพระชนม์อยู่เกิน ๑๐ เดือนไปได้ ๗ วัน (สรุปตามแนวอรรถกถาชาดก)

มหาวิหาร ชื่อวัดสำคัญวัดหนึ่ง เป็นศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธศาสนาในประเทศลังกาสมัยอดีต เคยเป็นที่พำนักของพระพุทธโฆษาจารย์ชาวชมพูทวีป เมื่อครั้งท่านมาแปลคัมภีร์สิงหฬเป็นมคธ

มหาศาล ผู้มั่งคั่ง, ผู้มั่งมี, ยิ่งใหญ่

มหาศาลนคร ชื่อถิ่นที่กั้นอาณาเขตด้านตะวันออกของมัชฌิมชนบท

มหาสติปัฏฐานสูตร ชื่อสูตรที่ ๙ แห่งทีฆนิกาย มหาวรรค พระสุตตันตปิฎกว่าด้วยสติปัฏฐาน ๔

มหาสมณะ พระนามหนึ่งสำหรับเรียกสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

มหาสังคาม ชื่อตอนหนึ่งในคัมภีร์บริวาร พระวินัยปิฎก

มหาสัจจกสูตร สูตรที่ ๓๖ ในคัมภีร์มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ พระสุตตันตปิฎก ว่าด้วยการอบรมกาย อบรมจิต และมีเรื่องราวในพุทธประวัติตอนแสวงหาโมกขธรรมคือ ตอนตรัสรู้รวมอยู่ด้วย




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย