ค้นหาในเว็บไซต์ :

พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด ลักษณะ ๓ - ลิงค์

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


ลักษณะ ๓ - ลิงค์

ลักษณะ ๓ ไม่เที่ยง, เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน ดู ไตรลักษณ์

ลักษณพยากรณศาสตร์ ตำราว่าด้วยการทายลักษณะ

ลักษณะตัดสินธรรมวินัย ดู หลักตัดสินธรรมวินัย

ลัคน์ เวลาในดวงชาตาคนเกิดและในดวงทำการมงคล

ลัชชินี หญิงผู้มีละอายต่อบาป เป็นอิตถีลิงค์ ถ้าเป็นปุงลิงค์ เป็นลัชชี

ลัชชีธรรม ธรรมแห่งบุคคลผู้ละอายต่อบาป

ลัฏฐิวัน สวนตาลหนุ่ม (ลัฏฐิ แปลว่าไม้ตะพดก็ได้ บางท่านจึงแปลว่าป่าไม้รวก) อยู่ทิศตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงราชคฤห์ พระพุทธเจ้าเสด็จไปประทับที่นั่น พระเจ้าพิมพิสารไปเฝ้าพร้อมด้วยราชบริพารจำนวนมาก ทรงสดับพระธรรมเทศนา ได้ธรรมจักษุ ประกาศพระองค์เป็นอุบาสกที่นั่น

ลัทธิ ความเชื่อถือ, ความรู้และประเพณีที่ได้รับและปฏิบัติสืบต่อกันมา

ลัทธิสมัย สมัยคือลัทธิ หมายถึงลัทธินั่นเอง

ลาภ ของที่ได้, การได้ ดู โลกธรรม

ลาภมัจฉริยะ ตระหนี่ลาภ ได้แก่หวงผลประโยชน์ พยายามกีดกันผู้อื่นไม่ให้ได้ (ข้อ ๓ ในมัจฉริยะ ๕)

ลาภานุตตริยะ การได้ที่ยอดเยี่ยม เช่น ได้ศรัทธาในพระพุทธเจ้า ได้ดวงตาเห็นธรรม (ข้อ ๓ ในอนุตตริยะ ๖)

ลาสิกขา ปฏิญญาตนเป็นผู้อื่นจากภิกษุต่อหน้าภิกษุด้วยกัน หรือต่อหน้าบุคคลอื่นผู้เข้าใจความ แล้วละเพศภิกษุเสีย ถือเอาเพศที่ปฏิญญานั้น, ละเพศภิกษุสามเณร, สึก;

คำลาสิกขาที่ใช้ในบัดนี้ คือ ตั้ง “นโม ฯลฯ” ๓ จบ แล้วกล่าวว่า “สิกขัง ปัจจักขามิ, คิหีติ มัง ธาเรถะ” (ว่า ๓ ครั้ง) แปลว่า “กระผมลาสิกขา, ขอท่านทั้งหลายจงทรงจำกระผมไว้ว่า เป็นคฤหัสถ์” (คิหีติออกเสียเป็น คีฮีติ)

ลำเอียง ดู อคติ

ลิงค์ เพศ, ในบาลีไวยากรณ์มี ๓ อย่าง คือ ปุงลิงค์ เพศชาย, อิตถีลิงค์ เพศหญิง, นปุงสกลิงค์ มิใช่เพศชายมิใช่เพศหญิง




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย