ค้นหาในเว็บไซต์ :

พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด พรหมจารี - พรหมายุ

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


พรหมจารี - พรหมายุ

พรหมจารี ผู้ประพฤติพรหมจารย์, นักเรียนพระเวท, ผู้ประพฤติธรรมมีเว้นจากเมถุน เป็นต้น

พรหมทัณฑ์ โทษอย่างสูง คือ สงฆ์ตกลงกันลงโทษภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง โดยภิกษุทั้งหลายพร้อมใจกันไม่พูดด้วย ไม่ว่ากล่าวตักเตือน หรือสั่งสอนภิกษุรูปนั้น, พระฉันนะซึ่งเป็นพระเจ้าพยศ ถือตัวว่าเป็นคนเก่าใกล้ชิดพระพุทธเจ้ามาก่อนใครอื่น ใครว่าไม่ฟัง ภายหลังถูกสงฆ์ลงพรหมทัณฑ์ถึงกับเป็นลมล้มสลบหายพยศได้

พรหมไทย ของอันพรหมประทาน, ของให้ที่ประเสริฐสุด หมายถึง ที่ดินหรือบ้านเมืองที่พระราชทานเป็นบำเหน็จ เช่น เมืองอุกกุฏฐะที่พระเจ้าปเสนทิโกศลพระราชทานแก่โปกขรสาติพราหมณ์ และนครจัมปาที่พระเจ้าพิมพิสารพระราชทานให้โสณทัณฑพราหมณ์ปกครอง

พรหมบุญ บุญอย่างสูง เป็นคำแสดงอานิสงส์ของผู้ชักนำให้สงฆ์สามัคคีปรองดองกัน ได้พรหมบุญจักแช่มชื่นในสวรรค์ตลอดกัลป์

พรหมโลก ที่อยู่ของพรหม ตามปกติหมายถึงรูปพรหม ซึ่งมี ๑๖ ชั้น (เรียกว่า รูปโลก) ตามลำดับดังนี้
๑. พรหมปาริสัชชา ๒. พรหมปุโรหิตา ๓. มหาพรหมา ๔. ปริตตาภา
๕. อัปปมาณาภา ๖. อาภัสสรา ๗. ปริตตสุภา ๘. อัปปมาณสุภา
๙. สุภกิณหา ๑๐. อสัญญีสัตตา ๑๑. เวหัปผลา ๑๒. อวิหา
๑๓. อตัปปา ๑๔. สุทัสสา ๑๕. สุทัสสี ๑๖. อกนิฏฐา;

นอกจากนี้ยังมี อรูปพรหม ซึ่งแบ่งเป็น ๔ ชั้น (เรียกว่าอรูปโลก) คือ
๑. อากาสานัญจายตนะ ๒. วิญญาณัญจายตนะ
๓. อากิญจัญญายตนะ ๔. เนวสัญญานาสัญญายตนะ

พรหมวิหาร ธรรมเครื่องอยู่ของพรหม, ธรรมประจำใจอันประเสริฐ, ธรรมประจำใจของท่านผู้มีคุณความดียิ่ง
ใหญ่มี ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

พรหมายุ ชื่อพราหมณ์คนหนึ่ง อายุ ๑๒๐ ปี เป็นผู้เชี่ยวชาญไตรเพท อยู่ ณ เมืองมิถิลา ในแคว้นวิเทหะ ได้ส่งศิษย์มาตรวจดูมหาบุรุษลักษณะของพระพุทธเจ้า ต่อมาได้พบกับพระพุทธเจ้า ทูลถามปัญหาต่างๆ มีความเลื่อมใส และได้บรรลุธรรมเป็นพระอนาคามี




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย