ค้นหาในเว็บไซต์ :

พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด พาหิย ทารุจีริยะ -พินทุกัปปะ

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


พาหิย ทารุจีริยะ -พินทุกัปปะ

พาหิย ทารุจีริยะ พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เกิดในครอบครัวคนมีตระกูลในแคว้นพาหิยรัฐ ลงเรือเดินทะเลเพื่อจะไปค้าขาย เรือแตกกลางทะเลรอดชีวิตไปได้ แต่หมดเนื้อหมดตัว ต้องแสดงตนเป็นผู้หมดกิเลสหลอกกลวงประชาชนเลี้ยงชีวิต ต่อมาพบพระพุทธเจ้า ทูลขอให้ทรงแสดงธรรม พระองค์ทรงแสดงวิธีปฏิบัติต่ออารมณ์ที่รับรู้ทางอายตนะทั้งหก พอจบพระธรรมเทศนาย่นย่อนั้น พาหิยะก็สำเร็จอรหัต แต่ไม่ทันได้อุปสมบท กำลังเที่ยวหาบาตรจีวร เผอิญถูกโคแม่ลูกอ่อนขวิดเอาสิ้นชีวิตเสียก่อน ได้รับยกย่องว่าเป็น เอตทัคคะในทางตรัสรู้ฉับพลัน

พาหิรทุกข์ ทุกข์ภายนอก

พาหิรลัทธิลัทธิภายนอกพระพุทธศาสนา

พาหุสัจจะ ความเป็นผู้ได้ยินได้ฟังมาก, ความเป็นผู้ได้เรียนรู้มาก หรือคงแก่เรียน มีองค์ ๕ คือ ๑. พหุสฺสุตา ได้ยินได้ฟังมาก ๒. ธตา ทรงจำไว้ได้ ๓. วจสา ปริจิตา คล่องปาก ๔. มนสานุเปกฺขิตา เจนใจ ๕. ทิฏฺฐิยา สุปฏิวิทฺธา ขบได้ด้วยทฤษฎี ดู พหูสูต

พิกัด กำหนด, กำหนดที่จะต้องเสียภาษี

พิณ เครื่องดนตรีชนิดหนึ่ง มีสายสำหรับดีด

พิทยาธร ดู วิทยาธร

พิทักษ์ ดูแลรักษา, คุ้มครอง, ป้องกัน

พินทุ จุด, วงกลมเล็กๆ ในที่นี้หมายถึงพินทุกัปปะ

พินทุกัปปะ การทำพินทุ, การทำจุดเป็นวงกลม อย่างใหญ่เท่าแววตานกยูง อย่างเล็กเท่าหลังตัวเรือดที่มุมจีวรด้วยสีเขียวคราม โคลน หรือดำคล้ำ เพื่อทำจีวรให้เสียสีหรือมีตำหนิตามวินัยบัญญัติ และเป็นเครื่องหมายช่วยให้จำได้ด้วย;
เขียนพินทุกัป ก็ได้, คำบาลีเดิมเป็นกัปปพินทุ, เรียกกันง่ายๆ ว่า พินทุ




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย