ค้นหาในเว็บไซต์ :

พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด นารายณ์ - นาลันทา

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


นารายณ์ - นาลันทา

นารายณ์ ชื่อเรียกพระวิษณุ ซึ่งเป็นพระเจ้าองค์หนึ่งของศาสนาพราหมณ์

นารี ผู้หญิง, นาง

นาลกะ 1. หลานชายของอสิตดาบสออกบวชตามคำแนะนำของลุง และไปบำเพ็ญสมณธรรมรอการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าอยู่ในป่าหิมพานต์ ครั้นพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ได้มาทูลถามเรื่องโมไนยปฏิปทา และกลับไปบำเพ็ญสมณธรรมในป่าหิมพานต์ ได้บรรลุอรหัตแล้ว ดำรงอายุอยู่อีก ๗ เดือน ก็ปรินิพพานในป่าหิมพานต์นั้นเอง; ท่านจัดเป็นมหาสาวกองค์หนึ่งในอสีติมหาสาวกด้วย 2. ชื่อหมู่บ้านอันเป็นที่เกิดของพระสารีบุตร ไม่ไกลจากเมืองราชคฤห์ บางทีเรียกนาลันทคาม

นาลันทะ ชื่อหมู่บ้านแห่งหนึ่งไม่ไกลจากกรุงราชคฤห์ เป็นบ้านเกิดของพระสารีบุตร ดู นาลกะ 2

นาลันทา ชื่อเมืองเล็กๆ เมืองหนึ่งในแคว้นมคธ อยู่ห่างจากพระนครราชคฤห์ประมาณ ๑ โยชน์ ณ เมืองนี้มีสวนมะม่วง ชื่อ ปาวาริกัมพวัน (สวนมะม่วงของปาวาริกเศรษฐี) ซึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับแรมหลายครั้งคัมภีร์ฝ่ายมหายานกล่าวว่า พระสารีบุตร อัครสาวก เกิดที่เมืองนาลันทา แต่คัมภีร์ฝ่ายบาลีเรียกถิ่นเกิดของพระสารีบุตรว่า หมู่บ้านนาลกะหรือนาลันทคาม

ภายหลังพุทธกาล ชื่อเมืองนาลันทาเงียบหายไประยะหนึ่ง หลวงจีนฟาเหียนซึ่งจาริกมาสืบศาสนาในชมพูทวีป ราว พ.ศ. ๙๔๔-๙๕๓ บันทึกไว้ว่าได้พบเพียงสถูปองค์หนึ่งที่นาลันทา แต่ต่อมาไม่นานกษัตริย์ราชวงศ์คุปตะพระองค์หนึ่งพระนามว่าศักราทิตย์ หรือกุมารคุปตะที่ ๑ ซึ่งครองราชย์ประมาณ พ.ศ. ๙๕๘-๙๙๘ ได้ทรงสร้างวัดอันเป็นสถานศึกษาขึ้นแห่งหนึ่งที่เมืองนาลันทา และกษัตริย์พระองค์ ต่อ ๆ มาในราชวงศ์นี้ก็ได้สร้างวัดอื่นๆ เพิ่มขึ้นในโอกาสต่าง ๆ จนมีถึง ๖ วัด อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน ในที่สุดได้มีการสร้างกำแพงใหญ่อันเดียวล้อมรอบ ทำให้วัดทั้ง ๖ รวมเข้าด้วยกันเป็นหนึ่งเดียว เรียกว่า นาลันทามหาวิหาร และได้กลายเป็นศูนย์กลางการศึกษาที่ยิ่งใหญ่ แห่งสำคัญยิ่ง ที่นักประวัติศาสตร์สมัยปัจจุบัน เรียกกันทั่วไปว่า “มหาวิทยาลัยนาลันทา”

พระเจ้าหรรษาวรรธนะ มหาราชพระองค์หนึ่งของอินเดีย ซึ่งครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. ๑๑๔๙-๑๑๙๑ ก็ได้ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ของมหาวิทยาลัยนาลันทา หลวงจีนเหี้ยนจัง (พระถังซัมจั๋ง) ซึ่งจาริกมาสืบพระศาสนาในอินเดียในรัชกาลนี้ ในช่วง พ.ศ. ๑๑๗๒-๑๑๘๗ ได้มาศึกษาที่นาลันทามหาวิหาร และได้เขียนบันทึกบรรยายอาคารสถานที่ที่ใหญ่โตและศิลปกรรมที่วิจิตรงดงาม ท่านเล่าถึงกิจกรรมทางการศึกษา ที่รุ่งเรืองยิ่ง นักศึกษามีประมาณ ๑๐,๐๐๐ คน และมีอาจารย์ประมาณ ๑,๕๐๐ คน พระมหากษัตริย์พระราชทานหมู่บ้าน ๒๐๐ หมู่โดยรอบถวาย โดยทรงยกภาษีที่เก็บได้ให้เป็นค่าบำรุงมหาวิทยาลัย ผู้เล่าเรียนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น วิชาที่สอนมีทั้งปรัชญา โยคะ ศัพทศาสตร์ เวชชศาสตร์ ตรรกศาสตร์ นิติศาสตร์ นิรุกติศาสตร์ ตลอดจนโหราศาสตร์ ไสยศาสตร์ และตันตระ แต่ที่เด่นชัดก็คือนาลันทาเป็นศูนย์กลางการศึกษาพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน และเพราะความที่มีกิตติศัพท์เลื่องลือมาก จึงมีมีนักศึกษาเดินทางมาจากต่างประเทศหลายแห่ง เช่น จีน ญี่ปุ่น อาเซียกลาง สุมาตรา ชวา ทิเบต และมงโกเลีย เป็นต้น หอสมุดของนาลันทาใหญ่โตมากและมีชื่อเสียงไปทั่วโลก เมื่อคราวที่ถูกเผาทำลายในสมัยต่อมา มีบันทึกกล่าวว่าหอสมุดนี้ไหม้อยู่เป็นเวลาหลายเดือน

หลวงจีนอี้จิงซึ่งจาริกมาในระยะประมาณ พ.ศ. ๑๒๒๓ ก็ได้มาศึกษาที่นาลันทาและได้เขียนบันทึกเล่าไว้อีก นาลันทารุ่งเรืองสืบมาช้านานจนถึงสมัยราชวงศ์ปาละ (พ.ศ. ๑๓๐๓-๑๖๘๕) กษัตริย์ราชวงศ์นี้ก็ทรงอุปถัมภ์มหาวิหารแห่งนี้ เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยอื่น ๆ โดยเฉพาะโอทันตปุระที่ได้ทรงสถาปนาขึ้นใหม่ อย่างไรก็ดี ในระยะหลัง ๆ นาลันทาได้หันไปสนใจการศึกษาพุทธศาสนาแบบตันตระ ที่ทำให้เกิดความย่อหย่อนและหลงเพลินทางกามารมณ์ และทำให้พุทธศาสนากลมกลืนกับศาสนฮินดูมากขึ้น เป็นเหตุสำคัญอย่างหนึ่งแห่งความเสื่อมโทรมของพระพุทธศาสนา

ครั้นถึงประมาณ พ.ศ. ๑๗๔๒ กองทัพมุสลิมเติรกส์ได้ยกมารุกรานรบชนะกษัตริย์แห่งชมพูทวีปฝ่ายเหนือและเข้าครอบครองดินแดงโดยลำดับ กองทัพมุสลิมเติรกส์ได้เผาผลาญทำลายวัดและปูชนียสถานในพุทธศาสนาลงแทบทั้งหมด และสังหารผู้ที่ไม่ยอมเปลี่ยนศาสนา นาลันทามหาวิหารก็ถูกเผาผลาญทำลายลงในช่วงระยะเวลานั้นด้วย

มีบันทึกของนักประวัติศาสตร์ชาวมุสลิมเล่าว่า ที่นาลันทา พระภิกษุถูกสังหารแทบหมดสิ้นและมหาวิทยาลัยนาลันทาก็ได้ถึงความพินาศสูญสิ้นลงแต่บัดนั้นมา ซากของนาลันทาที่ถูกขุดค้นพบในภายหลัง ยังประกาศยืนยันอย่างชัดเจนถึงความยิ่งใหญ่ของนาลันทาในอดีต

ในปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๕ อินเดีย ได้เริ่มตื่นตัว และตระหนักถึงความสำคัญของพระพุทธศาสนาที่ได้มีบทบาทอันยิ่งใหญ่ในการสร้างสรรค์อารยธรรมของชมพูทวีป รวมทั้งบทบาทของมหาวิทยาลัยนาลันทานี้ด้วย และใน พ.ศ. ๒๔๙๔ ก็ได้มีการจัดตั้งสถาบันบาลีนาลันทา ชื่อว่า “นวนาลันทามหาวิหาร” (นาลันทามหาวิหารแห่งใหม่) ขึ้น เพื่อแสดงความรำลึกคุณและยกย่องเกียรติแห่งพระพุทธศาสนา พร้อมทั้งเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่นาลันทามหาวิหาร มหาวิทยาลัยที่ยิ่งใหญ่ในอดีตสมัย




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย