พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด น้ำอมฤต - นิครนถนาฏบุตร

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


น้ำอมฤต - นิครนถนาฏบุตร

น้ำอมฤต ดู อมฤต

นิกร หมู่ พวก

นิกรสัตว์ หมู่สัตว์

นิกาย พวก, หมวด, หมู่, ชุมนุม, กอง; 1. หมวดตอนใหญ่แห่งพุทธพจน์ในพระสุตตันตปิฎก ซึ่งแยกเป็น ทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตตนิกาย อังคุตตรนิกาย และขุททกนิกาย ดู ไตรปิฎก 2. คณะนักบวช หรือศาสนิกชนในศาสนาเดียวกันนี้แยกเป็นพวกๆ; ในพระพุทธศาสนามีนิกายใหญ่ที่เรียกได้ว่าเป็นนิกายพุทธศาสนาในปัจจุบัน ๒ นิกาย คือ มหายาน หรือนิกายฝ่ายเหนือ (อุตรนิกาย) พวกหนึ่ง และเถรวาท หรือนิกายฝ่ายใต้ (ทักษิณนิกาย) ที่บางทีเรียก หีนยาน พวกหนึ่ง; ในประเทศไทยปัจจุบัน พระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทด้วยกัน แยกออกเป็น ๒ นิกาย แต่เป็นเพียงนิกายสงฆ์ มิใช่ถึงกับเป็นนิกายพุทธศาสนา (คือแยกกันเฉพาะในหมู่นักบวช) ได้แก่ มหานิกาย และธรรมยุติกนิกาย ซึ่งบางทีเรียกเพียง เป็นคณะว่า คณะมหานิกาย และคณะธรรมยุต

นิคคหะ ดู นิคหะ

นิคคหกรรม ดู นิคหกรรม

นิคคหวิธี วิธีข่ม, วิธีทำนิคหะ, วิธีลงโทษ ดู นิคหกรรม

นิคคหิต อักขระที่ว่ากดเสียง, อักขระที่ว่าหุบปากกดกรณ์ไว้ไม่ปล่อย มีรูปเป็นพินทุ เช่น สงฺฆํ อุปสมฺปทํ; บัดนี้นิยมเขียน นิคหิต

นิคม 1. หมู่บ้านใหญ่, เมืองขนาดเล็ก, ย่านการค้า 2. คำลงท้ายของเรื่อง

นิคมสีมา แดนนิคม, อพัทธสีมาที่สงฆ์กำหนดด้วยเขตนิคมที่ตนอาศัยอยู่

นิครนถ์ นักบวชนอกพระพุทธศาสนาที่เป็นสาวกของนิครนถนาฏบุตร, นักบวชในศาสนาเชน

นิครนถนาฏบุตร คณาจารย์เจ้าลัทธิคนหนึ่งในจำนวนครูทั้ง ๖ มีคนนับถือมาก มีชื่อเรียกหลายอย่าง เช่น วรรธมานบ้าง พระมหาวีระบ้าง เป็นต้น ศาสนาเชน ซึ่งยังมีอยู่ในประเทศอินเดีย




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย