พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด วัฏฏูปัจเฉท - วัตถุ ๑๐

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


วัฏฏูปัจเฉท - วัตถุ ๑๐

วัฏฏูปัจเฉท ความเข้าไปตัดเสียซึ่งวัฏฏะ (เป็นไวพจน์ของวิราคะ)

วัฑฒกีประมาณ ประมาณของช่างไม้, เกณฑ์หรือมาตราวัดของช่างไม้

วัฑฒลิจฉวี เจ้าลิจฉวีชื่อว่าวัฑฒะ ถูกพระเมตติยะ และพระภุมมชกะเสี้ยมสอนให้ทำการโจทพระทัพพมัลลบุตรด้วยอาบัติปฐมปาราชิก เป็นต้นเหตุให้พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติการลงโทษคว่ำบาตร

วัฑฒิ, วัฑฒิธรรม หลักความเจริญ (ของอารยชน) ดู อริยวัฑฒิ

วัณณกสิณ ๔ กสิณที่เพ่งวัตถุมีสีต่างๆ ๔ อย่างคือ นีลํ สีเขียว, ปิตํ สีเหลือง, โลหิตํ สีแดง, โอทาตํ สีขาว ดู กสิณ

วัณณมัจฉริยะ ตระหนี่วรรณะ คือหวงผิวพรรณ ไม่พอใจให้คนอื่นสวยงามหรือหวงคุณวัณณะ ไม่พอใจให้ใครมีคุณความดีมาแข่งตน (ข้อ ๔ ในมัจฉริยะ ๕)

วัตตขันธกะ ชื่อขันธกะที่ ๘ แห่งคัมภีร์จุลวรรค วินัยปิฎก ว่าด้วยวัตรประเภทต่างๆ

วัตตปฏิบัติ ดู วัตรปฏิบัติ

วัตตเภท ความแตกแห่งวัตร หมายความว่าละเลยวัตร, ละเลยหน้าที่ คือไม่ทำตามข้อปฏิบัติที่กำหนดไว้ เช่น ภิกษุผู้กำลังประพฤติมานัต หรือกำลังอยู่ปริวาส ละเลยวัตรของตน พระอรรถกถาจารย์ปรับอาบัติทุกกฎ

วัตถิกรรม การผูกรัดที่ทวารหนักคือ ผูกรัดหัวริดสีดวงงอกที่ทวารหนัก ท่านสันนิษฐานว่า อาจจะหมายถึงการสวนทวารเบาก็ได้

วัตถุ เรื่อง, สิ่ง, ข้อความ, ที่ดิน; ที่ตั้งของเรื่อง หมายถึงบุคคลผู้เป็นที่ตั้งแห่งการทำกรรมของสงฆ์ เช่น ในการให้อุปสมบท คนที่จะบวชเป็นวัตถุแห่งการให้อุปสมบท

วัตถุ ๑๐ เรื่องที่เป็นต้นเหตุ, ข้อซึ่งเป็นที่ตั้งหรือเป็นจุดเริ่มเรื่อง, ข้อปฏิบัติ ๑๐ ประการของพวกภิกษุวัชชีบุตรชาวเมืองเวสาลี ที่ผิดเพี้ยนย่อหย่อนทางพระวินัย แปลกจากสงฆ์พวกอื่น เป็นเหตุปรารภให้มีการสังคายนาครั้งที่ ๒ เมื่อ พ.ศ. ๑๐๐ มีดังนี้
๑. สิงคิโลณกัปปะ เรื่องเกลือเขนง ถือว่าเกลือที่เก็บไว้ในเขนง (ครั้งนั้นภิกษุเก็บเกลือไว้ในเขนง ความหมายคือ รับประเคนไว้ค้างคืนแล้ว) เอาออกผสมอาหารฉันได้
๒. ทวังคุลกัปปะ เรื่องสองนิ้ว ถือว่าเงาแดดบ่ายเลยเที่ยงเพียง ๒ นิ้ว ฉันอาหารได้
๓. คามันตรกัปปะ เรื่องเข้าละแวกบ้านถือว่า ภิกษุฉันแล้ว ห้ามอาหารแล้ว ปรารภว่าจะเข้าละแวกบ้านเดี๋ยวนั้น ฉันโภชนะเป็นอนติริตตะได้
๔. อาวาสกัปปะ เรื่องอาวาส ถือว่าภิกษุในหลายอาวาสที่มีสีมาเดียวกันแยกทำอุโบสถต่างหากกันได้
๕. อนุมติกัปปะ เรื่องอนุมัติ ถือว่าภิกษุยังมาไม่พร้อม ทำสังฆกรรมไปพลาง ภิกษุที่มาหลังจึงขออนุมัติก็ได้
อาจิณณกัปปะ เรื่องเคยประพฤติมา ถือว่าธรรมเนียมใดอุปัชฌาย์อาจารย์เคยประพฤติมาแล้ว ควรประพฤติตามอย่างนั้น
๗. อมถิตกัปปะ เรื่องไม่กวนถือว่า น้ำนมสดแปรไปแล้วแต่ยังไม่เป็นทธิ คือนมส้ม ภิกษุฉันแล้วห้ามอาหารแล้ว ดื่มน้ำ ดื่มน้ำนมอย่างนั้นอันเป็นอนติริตตะได้
๘. ชโลคิง ปาตุง ถือว่าสุรา อย่างอ่อน ไม่ให้เมา ดื่มได้
๙. อทสกัง นิสีทนัง ถือว่า ผ้านิสีทนะ ไม่มีชายก็ใช้ได้
๑๐. ชาตรูปรชตัง ถือว่าทองและเงินเป็นของควร รับได้
กรณีวัตถุ ๑๐ ประการนี้ จัดเป็น วิวาทาธิกรณ์ใหญ่เรื่องหนึ่ง




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย