วิภัตติ - วิมุตติญาณทัสสนขันธ์
วิภัตติ ชื่อวิธีไวยากรณ์ภาษาบาลีและสันสกฤต สำหรับแจกศัพท์โดยเปลี่ยนท้ายคำให้มีรูปต่างๆ กันเพื่อบอกการกและกาลเป็นต้น เช่นคำนาม โลโก ว่า โลก, โลกํ ซึ่งโลก, โลกา จากโลก, โลเก ในโลก; คำกิริยา เช่น นมติ ย่อมน้อม, นมตุ จงน้อม, นมิ น้อมแล้ว เป็นต้น
วิภาค การแบ่ง, การจำแนก, ส่วน, ตอน
วิมติวิโนทนี ชื่อคัมภีร์ฎีกาอธิบายพระวินัย แต่งโดยพระกัสสปเถระ ชาวแคว้นโจฬะ ในอินเดียตอนใต้
วิมละ บุตรเศรษฐีเมืองพาราณสีเป็นสหายของยสกุลบุตร ได้ทราบข่าวยสกุลบุตรออกบวช จึงได้บวชตามพร้อมด้วยสหายอีก ๓ คน คือ สุพาหุ ปุณณชิ และควัมปติ จัดเป็นพระมหาสาวกองค์หนึ่ง
วิมังสา การสอบสวนทอดลอง, การตรวจสอบ, การหมั่นตริตรองพิจารณาเหตุผลในสิ่งนั้น (ข้อ ๔ ในอิทธิบาท ๔)
วิมาน ที่อยู่หรือที่ประทับของเทวดา
วิมุต อักขระที่ว่าปล่อยเสียงเช่น สุณาตุ, เอสา ญตฺติ
วิมุตตานุตตริยะ การพ้นอันเยี่ยมคือหลุดพ้นจากกิเลสและกองทุกข์ ได้แก่พระนิพพาน (ข้อ ๓ ในอนุตตริยะ ๓)
วิมุตติ ความหลุดพ้น, ความพ้นจากกิเลสมี ๕ อย่างคือ
๑. ตทังควิมุตติ พ้นด้วยธรรมคู่ปรับหรือพ้นชั่วคราว
๒. วิกขัมภนวิมุตติ พ้นด้วยข่มหรือสะกดไว้
๓. สมุจเฉทวิมุตติ พ้นด้วยตัดขาด
๔. ปฏิปัสสัทธิวิมุตติ พ้นด้วยสงบ
๕. นิสสรณวิมุตติ พ้นด้วยออกไป;
๒ อย่างแรก เป็น โลกิยวิมุตติ ๓ อย่างหลังเป็น โลกุตตรวิมุตติ
วิมุตติกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้ทำใจให้พ้นจากกิเลส (ข้อ ๙ ในกถาวัตถุ ๑๐)
วิมุตติขันธ์ กองวิมุตติ, หมวดธรรมว่า ด้วยวิมุตติ คือการทำจิตให้พ้นจากอาสวะ เช่น ปหานะ การละ, สัจฉิกิริยาการทำให้แจ้ง (ข้อ ๔ ในธรรมขันธ์ ๕)
วิมุตติญาณทัสสนะ ความรู้ความเห็นในวิมุตติ, ความรู้เห็นว่าจิตหลุดพ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย
วิมุตติญาณทัสสนกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้เกิดความรู้ความเห็นในความที่ใจพ้นจากกิเลส (ข้อ ๑๐ ในกถาวัตถุ ๑๐)
วิมุตติญาณทัสสนขันธ์ กองวิมุตติญาณทัสนะ, หมวดธรรมว่าด้วยความรู้ความเห็นว่า จิตหลุดพ้นแล้วจากอาสวะ เช่น ผลญาณ ปัจจเวกขณญาณ (ข้อ ๕ ในธรรมขันธ์ ๕)