ค้นหาในเว็บไซต์ :

พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด วิสามัญ - วิสุทธิมรรค

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


วิสามัญ - วิสุทธิมรรค

วิสามัญ แปลกจากสามัญ, ไม่ใช่ธรรมดา, ไม่ทั่วไป, เฉพาะ

วิสารท แกล้วกล้า, ชำนาญ, ฉลาด

วิสาสะ ดู วิสสาสะ

วิสาสิกชน คนคุ้นเคย, ดู วิสสาสิกชน

วิสุงคาม แผนกหนึ่งจากบ้าน, แยกต่างหากจากบ้าน

วิสุงคามสีมา แดนแผนกหนึ่งจากแดนบ้านคือ แยกต่างหากจากเขตบ้าน, ในที่นี้หมายถึง ที่ตั้งวัดที่พระเจ้าแผ่นดินประกาศพระราชทานให้แก่สงฆ์

วิสุทธิ ความบริสุทธิ์, ความหมดจด, การชำระสัตว์ให้บริสุทธิ์ด้วยการบำเพ็ญไตรสิกขาให้บริบูรณ์เป็นขั้นๆ ไปโดยลำดับ จนบรรลุจุดหมายคือพระนิพพาน มี ๗ ขั้น คือ
๑. สีลวิสุทธิ ความหมดจดแห่งศีล
๒. จิตตวิสุทธิ ความหมดจดแห่งจิตต์
๓. ทิฏฐวิสุทธิ ความหมดจดแห่งทิฏฐิ
๔. กังขาวิตรณวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องข้ามพ้นความสงสัย
๕. มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องรู้เห็นว่าทางหรือ มิใช่ทาง
๖. ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณอันรู้เห็นทางดำเนิน
๗. ญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณทัสสนะ กล่าวคือมรรคญาณ

วิสุทธิเทพ เทวดาโดยความบริสุทธิ์ได้แก่พระอรหันต์ (ข้อ ๓ ในเทพ ๓)

วิสุทธิมรรค ปกรณ์พิเศษอธิบายศีล สมาธิ ปัญญา ตามแนววิสุทธิ ๗ พระพุทธโฆสาจารย์ พระอรรถกถาจารย์ชาวอินเดียเป็นผู้แต่งที่มหาวิหารในเกาะลังกา;
พระพุทธโฆสาจารย์ผู้นี้เป็นบุตรพราหมณ์ เกิดที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งใกล้พุทธคยา อันเป็นสถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ในแคว้นมคธ เมื่อประมาณ พ.ศ. ๙๕๖ เรียนจบไตรเพทมีความเชี่ยวชาญมาก ต่อมาพบกับพระเรวตเถระ ได้โต้ตอบปัญหากัน สู้พระเรวตเถระไม่ได้ จึงขอบวชเพื่อเรียนพุทธวจนะ มีความสามารถมากได้รจนาคัมภีร์ญาโณทัย เป็นต้น พระเรวตเถระจึงแนะนำให้ไปเกาะลังกา เพื่อแปลอรรถกถาสิงหฬ กลับเป็นภาษามคธ ท่านเดินทางไปที่มหาวิหาร เกาะลังกา เมื่อขออนุญาตแปลคัมภีร์ ถูกพระเถระแห่งมหาวิหารให้คาถามา ๒ บท เพื่อแต่งทดสอบความรู้ พระพุทธโฆส จึงแต่งคำอธิบายคาถาทั้งสองนั้นขึ้นเป็นคัมภีร์วิสุทธิมรรค จากนั้นก็ได้รับอนุญาตให้ทำงานแปลอรรถกถาได้ตามประสงค์ เมื่อทำงานเสร็จสิ้นแล้ว ท่านก็เดินทางกลับสู่ชมพู ทวีป พระพุทธโฆสาจารย์ เป็นพระอรรถกถาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุด มีผลงานมากที่สุด




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย