ค้นหาในเว็บไซต์ :

พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด วีติกกมะ - วุฒบรรพชิต

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


วีติกกมะ - วุฒบรรพชิต

วีติกกมะ การละเมิดพระพุทธบัญญัติ, การทำผิดวินัย

วีสติวรรค สงฆ์พวกที่กำหนดจำนวน ๒๐ รูป (ทำอัพภานได้) ดู วรรค

วุฏฐานะ การออก เช่น ออกจากฌาน ออกจากอาบัติสังฆาทิเสส เป็นต้น

วุฏฐานคามินี
1. วิปัสสนาที่ให้ถึงมรรค, วิปัสสนาที่เจริญแก่กล้าถึงจุดสุดยอด ทำให้เข้าถึงมรรค (มรรคชื่อว่าวุฏฐานะ โดยความหมายว่าเป็นที่ออกไปได้จากสิ่งที่ยึดติดถือมั่น หรือออกไปพ้นจากสังขาร), วิปัสสนาที่เชื่อมต่อให้ถึงมรรค
2. "อาบัติที่ให้ถึงวุฏฐานวิธี” คือ อาบัติที่จะพ้นได้ด้วยอยู่กรรมหมายถึงอาบัติสังฆาทิเสส, คู่กับเทสนาคามินี คืออาบัติที่พ้นได้ด้วยการแสดง (ตั้งแต่ถุลลัจจัยลงมา)

วุฏฐานวิธี ระเบียบเป็นเครื่องออกจากอาบัติ หมายถึงระเบียบวิธีปฏิบัติสำหรับภิกษุผู้จะเปลืองตนจากอาบัติหนักขั้นสังฆาทิเสส, มีทั้งหมด ๔ อย่าง คือ ปริวาส มานัต อัพภาน และปฏิกัสสนา

วุฏฐานสมมติ มติอนุญาตให้ออกจากความเป็นสิกขมานาเพื่ออุปสมบทเป็นภิกษุณี, นางสิกขามานาผู้สมาทานสิกขาบท ๖ ข้อ ตั้งแต่ปาณาติปาตาเวรมณี ถึงวิกาลโภชนา เวรมณี โดยมิได้ขาด ครบเวลา ๒ ปีแล้ว จึงมีสิทธิขอวุฏฐานสมมติ เพื่ออุปสมบทเป็นภิกษุณีต่อไป

วุฑฒิ ธรรมเป็นเครื่องเจริญ, ธรรมเป็นเหตุให้ถึงความเจริญ มี ๔ อย่าง คือ ๑. สัปปุริสสังเสวะ คบหาสัตบุรุษ ๒. สัทธัมมัสสวนะ ฟังสัทธรรม ๓. โยนิโสมนสิการ ทำในใจโดยแยบคาย ๔. ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม, เรียกและเขียนเป็นวุฒิบ้าง วุฑฒิธรรมบ้าง วุฒิธรรมบ้าง, ในบาลีเรียกว่า ธรรมที่เป็นไปเพื่อปัญญาวุฑฒิ หรือ ปัญญาวุฒิ คือ เพื่อความเจริญแห่งปัญญา

วุฒบรรพชิต ผู้บวชเมื่อแก่




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย