พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด ศิลาดวด - ศีลธรรม

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


ศิลาดวด - ศีลธรรม

ศิลาดวด หินที่สูงขึ้นไปบนพื้นดิน

ศิลาดาด หินที่เป็นแผ่นราบใหญ่

ศิลาเทือก หินที่ติดเป็นพืดยาว

ศิลาวดี ชื่อนครหนึ่งในสักกชนบท

ศิวาราตรี พิธีลอยบาปของพราหมณ์ทำให้วันเพ็ญเดือน ๓ เป็นประจำปี วิธีทำคือ ลงอาบน้ำในแม่น้ำ สระเกล้า ชำระกายให้สะอาดหมดจด เท่านี้ถือว่าได้ลอยบาปไปตามกระแสน้ำแล้วเป็นอันสิ้นบาปกันคราวหนึ่งถึงปีก็ทำใหม่ (คำสันสกฤตเดิมเป็นศิวราตริ แปลว่า ราตรีของพระศิวะ พจนานุกรมสันสกฤตว่า ตรงกับแรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๓)

ศีล ความประพฤติดีทางกายและวาจา, การรักษากายและวาจาให้เรียบร้อย,ข้อปฏิบัติสำหรับควบคุมกายและวาจาให้ตั้งอยู่ในความดีงาม, การรักษาปกติตามระเบียบวินัย, ปกติมารยาทที่สะอาดปราศจากโทษ, ข้อปฏิบัติในการเว้นจากความชั่ว, ข้อปฏิบัติในการฝึกหัดกายวาจาให้ดียิ่งขึ้น, ความสุจริตทางกายวาจาและอาชีพ; มักใช้เป็นคำเรียกอย่างง่ายสำหรับคำว่า อธิศีลสิกขา

ศีลธรรม ความประพฤติดีงามทางกายวาจา, ความประพฤติที่ดีที่ชอบ, ความสุจริตทางกายวาจาและอาชีวะ; โดยทางศัพท์ ศีลธรรม แปลว่า ธรรมคือศีล หมายถึง ธรรมขั้นศีล หรือ ธรรมในระดับศีล เพราะศีลเป็นธรรมอย่างหนึ่ง ในบรรดาธรรมภาคปฏิบัติ ๓ อย่าง คือ ศีล สมาธิ และปัญญา ดังนั้น ต่อจากธรรมขั้นศีล จึงมีธรรมขั้นสมาธิ และธรรมขั้นปัญญา; ได้มีผู้พยายามแปลศีลธรรม อีกอย่างหนึ่งว่าศีลและธรรม (ถ้าแปลให้ถูกต้องจริงต้องว่าศีลและธรรมอื่นๆ คือศีลและธรรมอื่นๆ นอกจากศีล เช่น สมาธิ และปัญญา เป็นต้น เพราะศีลก็เป็นธรรมอย่างหนึ่ง) ถ้าแปลอย่างนี้ จะต้องเข้าใจว่า ศีลธรรม มิใช่เป็นเพียงความประพฤติดีงามเท่านั้น แต่รวมถึง สมถะวิปัสสนา ขันธ์ ๕ ปฏิจจสมุปบาท ไตรลักษณ์ เป็นต้น ด้วย




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย