พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด ทักขิณาวัฏ - ทันตชะ

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


ทักขิณาวัฏ - ทันตชะ

ทักขิณาวัฏ เวียนขวา, วนไปทางขวา คือ วนเลี้ยวทางขวาอย่างเข็มนาฬิกา เขียน ทักขิณาวัฏฏ์ หรือ ทักษิณาวรรตก็มี

ทักขิเณยยบุคคล บุคคลผู้ควรรับทักษิณา

ทกฺขิเณยฺโย ผู้ควรแก่ทักขิณา,พระสงฆ์เป็นผู้ควรได้ของทำบุญ คือไทยธรรม มีอาหาร ผ้านุ่งห่ม เป็นต้น ที่มีผู้บริจาค (ข้อ ๗ ในสังฆคุณ ๙)

ทักขิโณทก น้ำที่หลั่งในเวลาทำทาน

ทักขิไณย ผู้ควรแก่ทักขิณา,ผู้ควรรับของทำบุญที่ทายกถวาย

ทักขิไณยบุคคล บุคคลผู้ควรรับทักษิณา ดู ทักขิไณย

ทักษิณานิกาย นิกายพุทธศาสนาฝ่ายใต้ที่พวกอุตรนิกายตั้งชื่อให้ว่าหีนยานใช้บาลีมคธ บัดนี้นิยมเรียกว่า เถรวาท

ทักษิณา ทานเพื่อผลอันเจริญ,ของทำบุญ

ทักษิณานุประทาน ทำบุญอุทิศผลให้แก่ผู้ตาย

ทักษิโณทก น้ำที่หลั่งในเวลาทำทาน, น้ำกรวด, คือเอาน้ำหลั่งเป็นเครื่องหมายของการให้แทนสิ่งของที่ให้ เช่นท ี่ดิน ศาลา กุฎี บุญกุศล เป็นต้น ซึ่งใหญ่โตเกินกว่าที่จะยกไหว หรือไม่มีรูปที่จะยกขึ้นได้

ทัณฑกรรม การลงอาชญา, การลงโทษ; ในที่นี้ หมายถึงการลงโทษสามเณรคล้ายกับการปรับอาบัติภิกษุได้แก่กักบริเวณ ห้ามไม่ให้เข้า ห้ามไม่ให้ออกจากอาราม หรือการใช้ตักน้ำ ขนฟืน ขนทราย เป็นต้น

ทัณฑกรรมนาสนา ให้ฉิบหายด้วยการลงโทษ หมายถึงการไล่ออกจากสำนัก เช่น ที่ทำแก่กัณฑกสามเณรผู้กล่าวตู่พระธรรมเทศนาว่า ธรรมที่ตรัสว่าเป็นอันตราย ไม่สามารถทำอันตรายแก่ผู้เสพได้จริง

ทัณฑปาณิ กษัตริย์โกลิยวงศ์ เป็นพระราชบุตรของพระเจ้าอัญชนะ เป็นพระเชฏฐาของพระนางสิริมหามายาพุทธมารดา

ทันต์ ฟัน

ทันตชะ อักษรเกิดแต่ฟัน คือ ต ถ ท ธ น และ ส




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย