ค้นหาในเว็บไซต์ :

พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด ตั่ง - ตำรับ, ตำหรับ

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


ตั่ง - ตำรับ, ตำหรับ

ตั่ง ม้า ๔ เหลี่ยมรี นั่งได้ ๒ คนก็มี

ตัชชนียกรรม กรรมอันสงฆ์พึงทำแก่ภิกษุอันจะพึงขู่, สังฆกรรมประเภทนิคหกรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งสงฆ์ทำการตำหนิโทษภิกษุผู้ก่อความทะเลาะวิวาท ก่ออธิกรณ์ขึ้นในสงฆ์เป็นผู้มีอาบัติมาก และคลุกคลีกับคฤหัสถ์ในทางที่ไม่สมควร

ตั้งใจชอบ ดู สัมมาสมาธิ

ตณฺหกฺขโย ความสิ้นไปแห่งตัณหาเป็นไวพจน์อย่างหนึ่งแห่งวิราคะ และนิพพาน

ตัณหา ความทะยานอยาก, ความดิ้นรน, ความปรารถนา, ความแส่หา มี ๓ คือ ๑. กามตัณหา ความทะยานอยากในกาม อยากได้อารมณ์อันน่ารักใคร่ ๒. ภวตัณหา ความทะยานอยากในภพ อยากเป็นนั่นเป็นนี่ ๓. วิภวตัณหา ความทะยานอยากในวิภพอยากไม่เป็นนั่นไม่เป็นนี่ อยากพรากพ้นดับสูญไปเสีย

ตัณหา ธิดามารนางหนึ่งใน ๓ นางที่อาสาพระยามารผู้เป็นบิดา เข้าไปประโลมพระพุทธเจ้าด้วยอาการต่างๆ ในสมัยที่พระองค์ประทับอยู่ที่ต้นอชปาลนิโครธภายหลังตรัสรู้ใหม่ๆ (อีก ๒ นาง คือ อรดีกับราคา)

ตัตรมัชฌัตตตา ความเป็นกลางในอารมณ์นั้นๆ, ภาวะที่จิตและเจตสิกตั้งอยู่ในความเป็นกลาง บางทีเรียก อุเบกขา
(ข้อ ๗ ในโสภณเจตสิก ๒๕)

ตัสสปาปิยสิกากรรม กรรมอันสงฆ์พึงทำเพราะความที่ภิกษุนั้นเป็นผู้เลวทราม, กรรมนี้สงฆ์ทำแก่ภิกษุผู้เป็นจำเลยในอนุวาทาธิกรณ์ ให้การกลับไปกลับมา เดี๋ยวปฏิเสธ เดี๋ยวสารภาพพูดถลากไถล พูดกลบเกลื่อนข้อที่ถูกซัก พูดมุสาซึ่งหน้า สงฆ์ทำกรรมนี้แก่เธอเป็นการลงโทษตามความผิดแม้ว่าเธอจะไม่รับ หรือเพื่อเพิ่มโทษจากอาบัติที่ต้อง

ตาลุ เพดานปาก

ตำรับ, ตำหรับ ตำราที่กำหนดไว้เป็นเฉพาะแต่ละเรื่องละราย




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย