ค้นหาในเว็บไซต์ :

พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด ส่วนข้างปลายทั้งสอง - สหชีวินนี

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


ส่วนข้างปลายทั้งสอง - สหชีวินนี

ส่วนข้างปลายทั้งสอง อดีต กับอนาคต

ส่วนท่ามกลาง ในประโยคว่า “ไม่ติดอยู่ในส่วนท่ามกลาง” ปัจจุบัน

สวนานุตตริยะ การสดับที่ยอดเยี่ยม เช่น ได้สดับธรรมของพระพุทธเจ้า (ข้อ ๒ ในอนุตตริยะ ๖)

สวรรค์ แดนอันแสนดีเลิศล้ำด้วยกามคุณทั้ง ๕, โลกของเทวดา ตามปกติหมายถึงกามาพจรสวรรค์ (สวรรค์ที่ยังเกี่ยวข้องกาม) ๖ ชั้น คือ จาตุมหาราชิกา ดาวดึงส์ ยามา ดุสิต นิมมานรดี ปรนิมมิตวสวัตดี

สวรรคต ไปสู่สวรรค์ คือ ตาย (ใช้สำหรับพระเจ้าแผ่นดิน สมเด็จพระบรมราชินี สมเด็จพระบรมราชชนนี สมเด็จพระยุพราชสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชและพระบรมราชวงศ์ที่ทรงได้รับพระราชทานฉัตร ๗ ชั้น)

สวัสดิ์, สวัสดี ความดีความงาม, ความเจริญรุ่งเรือง, ความปลอดโปร่ง, ความปลอดภัยไร้อันตราย

สวัสดิมงคล มงคล คือ ความสวัสดี

สวากขาตธรรม พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว คือ ตรัสได้จริงไม่วิปริต ไพเราะในเบื้องต้น ท่ามกลางและที่สุด

สวากขาตนิยยานิกธรรม ธรรมที่พระพุทธเจ้ากล่าวดีแล้ว นำผู้ประพฤติตามให้ออกไปจากทุกข์

สวาธยาย ดู สาธยาย

สวิญญาณกะ สิ่งที่มีวิญญาณ ได้แก่ สัตว์ต่างๆ เช่น แพะ แกะ สุกร โค กระบือ เป็นต้น เทียบ อวิญญาณกะ

สสังขารปรินิพพายี พระอนาคามีผู้จะปรินิพพานด้วยต้องใช้ความเพียร ดู อนาคามี

สสังขาริก “เป็นไปกับด้วยการชักนำ”, มีการชักนำ ใช้แก่จิตที่คิดดีหรือชั่วโดยถูกกระตุ้นหรือชักจูงจากภายนอก มิใช่เริ่มขึ้นเอง และมีกำลังอ่อน ตรงข้ามกับ อสังขาริก ซึ่งแปลว่าไม่มีการชักนำ คือ จิตคิดดีหรือชั่ว โดยเริ่มขึ้นเอง มิใช่ถูกกระตุ้นหรือชักจูงจากภายนอก จึงมีกำลังมาก

สหคตทุกข์ ทุกข์ในด้วยกัน, ทุกข์กำกับได้แก่ทุกข์ที่พ่วงมาด้วยกับผลอันไพบูลย์ มีลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เป็นต้น แต่ละอย่างย่อมพัวพันด้วยทุกข์

สหชาต, สหชาติ  “ผู้เกิดร่วมด้วย” หมายถึง บุคคล (ตลอดจนสัตว์และสิ่งของ) ที่เกิดร่วมวันเดือนปีเดียวกันอย่างเพลา หมายถึง ผู้เกิดร่วมปีกัน; ตำนาน กล่าวว่า เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะประสูตินั้น มีสหชาต ๗ คือ พระมารดาของเจ้าชายราหุล (เจ้าหญิงยโสธราหรือพิมพา) พระอานนท์ นายฉันนะ อามาตย์กาฬุกายี ม้ากัณฐกะ ต้นมหาโพธิ์ และขุมทรัพย์ทั้ง ๔ (นิธิกุมภี)

สหชาตธรรม ธรรมที่เกิดพร้อมกัน

สหชีวินี คำเรียกแทนคำว่า ลัทธิวิหารินีของภิกษุณี ทั้ง ๒ คำนี้แปลว่าผู้อยู่ร่วมตรงกับสัทธิวิหาริกในฝ่ายภิกษุ; ศิษย์ของปวัตตินี




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย