สังโยชน์ - สังวาส
สังโยชน์ กิเลสที่ผูกมัดใจสัตว์, ธรรมที่มัดสัตว์ไว้กับทุกข์ มี ๑๐ อย่างคือ
ก.โอรัมภาคิยสังโยชน์ สังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ได้แก่ ๑. สักกายทิฏฐิ ความเห็นว่าเป็นตัวของตน ๒. วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย ๓. สีลัพพตปรามาส ความถือมั่นศีลพรต ๔. กามราคะ ความติดใจในกามคุณ ๕. ปฏิฆะ ความกระทบกระทั่งในใจ
ข. อุทธัมภาคิยสังโยชน์ สังโยชน์เบื้องสูง ๕ ได้แก่ ๖. รูปราคะ ความติดใจในรูปธรรมอันประณีต ๗. อรูปราคะ ความติดใจในอรูปธรรม ๘. มานะ ความถือว่าตัวเป็นนั่นเป็นนี่ ๙. อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน ๑๐. อวิชชา ความไม่รู้จริง, พระโสดาบัน ละสังโยชน์ ๓ ข้อต้นได้, พระสกิทาคามี ทำสังโยชน์ข้อ ๔ และ ๕ ให้เบาบางลงด้วย, พระอนาคามี ละสังโยชน์ ๕ ข้อต้นได้หมด, พระอรหันต์ละสังโยชน์ทั้ง ๑๐ ข้อ, ในพระอภิธรรมท่านแสดง
สังโยชน์อีกหมวดหนึ่ง คือ ๑. กามราคะ ๒. ปฏิฆะ ๓. มานะ ๔. ทิฏฐิ (ความเห็นผิด) ๕. วิจิกิจฉา ๖.สีลัพพตปรามาส ๗. ภวราคะ (ความติดใจในภพ) ๘. อิสสา (ความริษยา) ๙. มัจฉริยะ (ความตระหนี่) ๑๐.อวิชชา
สังวร ความสำรวม,การระวังปิดกั้นบาป อกุศล มี ๕ อย่าง คือ ๑. ปาฏิโมกขสังวร สำรวมในปาฏิโมกข์ (บางแห่งเรียก สีลสังวร สำรวมในศีล) ๒. สติสังวร สำรวมด้วยสติ ๓. ญาณสังวร สำรวมด้วยญาณ ๔. ขันติสังวร สำรวมด้วยขันติ ๕. วิริยสังวร สำรวมด้วยความเพียร
สังวรปธาน เพียรระวัง คือ เพียรระวังบาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด มิให้เกิดขึ้น (ข้อ ๑ ในปธาน ๔)
สังวรปาริสุทธิ ความบริสุทธิ์ด้วยสังวร,ความสำรวมที่เป็นความบริสุทธิ์ หรือเป็นเครื่องทำให้บริสุทธิ์ หมายถึง ศีลที่ประพฤติถูกต้อง เป็นไปเพื่อความไม่มีวิปฏิสาร เป็นต้น ตามลำดับจนถึงพระนิพพานจัดเป็น อธิศีล
สังวรรณนา พรรณนาด้วยดี, อธิบายความ
สังวรสุทธิ ความบริสุทธิ์ด้วยสังวร,ความสำรวมที่เป็นเครื่องทำให้บริสุทธิ์หมายถึง อินทรียสังวร
สังวาส ธรรมเป็นเครื่องอยู่ร่วมกันของสงฆ์ ได้แก่การทำสังฆกรรมร่วมกัน สวดปาฏิโมกข์ร่วมกัน มีสิกขาบทเสมอกัน เรียกง่ายๆ ว่า ทำอุโบสถสังฆกรรมร่วมกัน คือ เป็นพวกเดียวกัน อยู่ด้วยกันได้มีฐานะและสิทธิเสมอกัน; ในภาษาไทย ใช้หมายถึง ร่วมประเวณี ด้วย