ค้นหาในเว็บไซต์ :

พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด สัญจริตตะ - สัญญา

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


สัญจริตตะ - สัญญา

สัญจริตตะ การชักสื่อให้ชายหญิงเป็นผัวเมียกัน เป็นชื่อสังฆาทิเสสสิกขาบทที่ ๕ ที่ห้ามการชักสื่อ

สัญเจตนา ความจงใจ,ความแสวงหาอารมณ์, เจตนาที่แต่งกรรม, ความคิดอ่าน; มี ๓ คือ กายสัญเจตนา วจีสัญเจตนา และมโนสัญเจตนา;
ดู สังขาร ๓; มี ๖ คือ รูปสัญเจตนา สัทท- คันธรส- โผฏฐัพพ- และธัมมสัญเจตนา, ดู ปิยรูปสาตรูป

สัญเจตนิกา มีความจงใจ, มีเจตนา, เป็นชื่อสังฆาทิเสสสิกขาบทที่หนึ่ง ข้อที่จงใจทำอสุจิให้เคลื่อนเรียกเต็มว่า สัญเจตนิกาสุกกวิสัฏฐิ

สัญชัย ชื่อปริพาชกผู้เป็นอาจารย์ใหญ่คนหนึ่ง ในพุทธกาล ตั้งสำนักสอนลัทธิอยู่ในกรุงราชคฤห์ มีศิษย์มาก พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะเคยบวชอยู่ในสำนักนี้ ภายหลังเมื่อพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลกพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะพร้อมด้วยศิษย์ ๒๕๐ คน พากันไปสู่สำนักพระพุทธเจ้า สัญชัยเสียใจเป็นลมและอาเจียนเป็นโลหิต;
นิยมเรียกว่า สญชัยปริพาชก เป็นคนเดียวกับ สัญชัยเวลัฏฐบุตร คนหนึ่งใน ติตถกร หรือครูทั้ง ๖

สัญญมะ การยับยั้ง, การงดเว้น (จากบาป หรือจากการเบียดเบียน), การบังคับควบคุมตน; ท่านมักอธิบายว่าสัญญมะ ได้แก่ ศีล, บางทีแปลว่าสำรวม เหมือนอย่าง “สังวร”; เพื่อความเข้าใจชัดเจนในเบื้องต้น พึงเทียบความหมายระหว่างข้อธรรม ๓ อย่าง คือ สังวร เน้นความระวังในการรับเข้า คือปิดกั้นสิ่งเสียหายที่จะเข้ามาจากภายนอก สัญญมะ ความคุมตนในการแสดงออก มิให้เป็นไปเพื่อการเบียดเบียน เป็น ทมะ ฝึกฝนแก้ไขปรับปรุงตนข่มกำจัดส่วนร้ายและเสริมส่วนที่ดีงามให้ยิ่งขึ้นไป; สังยมะ ก็เขียน

สัญญัติ (ในคำว่า “อุปัชฌายะชื่ออะไรก็ตาม ตั้งสัญญัติลงในเวลานั้นว่าชื่อติสสะ)” การหมายรู้, ความหมายรู้ร่วมกัน, ข้อสำหรับหมายรู้ร่วมกัน, ข้อตกลง

สัญญา การกำหนดหมาย, ความจำได้หมายรู้ คือ หมายรู้ไว้ ซึ่ง รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะและอารมณ์ที่เกิดกับใจว่า เขียว ขาว ดำ แดง ดัง เบา เสียงคน เสียงแมว เสียงระฆัง กลิ่นทุเรียน รสมะปราง เป็นต้น และจำได้ คือ รู้จักอารมณ์นั้นว่าเป็นอย่างนั้นๆ ในเมื่อไปพบเข้าอีก (ข้อ ๓ ในขันธ์ ๕) มี ๖ อย่าง ตามอารมณ์ที่หมายรู้นั้น เช่น รูปสัญญา หมายรู้รูป สัททสัญญา หมายรู้เสียง เป็นต้น;
ความหมายสามัญในภาษาบาลีว่าเครื่องหมายที่สังเกตความสำคัญว่าเป็นอย่างนั้นๆ, ในภาษาไทยมักใช้หมายถึง ข้อตกลง, คำมั่น




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย